เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะทำงานบูรณาการเพื่อปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า กล่าวตอนหนึ่งในเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 5 บุหรี่ไฟฟ้า ฆ่าเยาวชนไทย “อย่าปล่อยให้ ฆาตกรลอยนวล” ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดขึ้น ว่า ตั้งแต่ตนได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะทำงานบูรณาการเพื่อปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กระทรวงการคลัง โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลัก
ทั้งนี้ ยืนยันว่า เรื่องอะไรก็ตามที่เป็นพิษ เป็นภัยต่อสังคม เป็นพิษ เป็นภัยต่อเยาวชน ผู้บริหาร ตั้งแต่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี หรือรมว.สาธารณสุข ตลอดจนถึงผู้บริการใน สสส. ส่วนที่เกี่ยวข้องในกระทรวงสาธารณสุข ผมยืนยัน 100% เลยว่าไม่มีใครสนับสนุนให้เกิดการยอมรับในเรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพราะว่าพิษภัยที่เกิดตามมาอีกมาก ทั้งปัญหาสุขภาพ เศรษฐกิจ และภัยสังคม การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อให้เกิดการใช้ยาเสพติดอื่นเข้าไปอีก และที่ตนรับไม่ได้คือ เยาวชนอายุไม่เกิน 12 ปี ยืนอยู่หน้าร้านรอเวลาเปิดแล้วเข้าไปซื้อบุหรี่คาชุดนักเรียน ชุดลูกเสือ ดังนั้นเรื่องนี้ทุกฝ่ายจะต้องจริงจังในการแก้ไขปัญหา
“ใครจะอย่างไรก็แล้วแต่ ผมไม่สนว่าจะเป็นประโยชน์ของใคร ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ต่อตัวผู้ค้าเอง เป็นผลประโยชน์ต่อหน่วยงานของรัฐที่ ต้องใช้คำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เลวทรามต่ำช้ามาก เพราะถ้ามันมีการเรียกรับผลประโยชน์ เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ หรือไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองก็ตาม ถ้าเรื่องนี้ผมไม่มีวันยอมให้ผ่านไปได้ หลังจากที่ได้มีการดำเนินการในสิ่งเหล่านี้แล้ว บอกได้เลยว่ามีคนติดต่อเข้ามาว่าให้ปล่อยผ่านได้มั้ยเรื่องนี้ ดูแลกัน ผมก็พยายามอยู่ อยากให้มาดูเร็วๆ หน่อย เพราะว่าผมก็จะได้ดำเนินคดีในเรื่องอื่นต่อไปอีก ต้องบอกว่าที่ผมทำอยู่นั้นอันตรายเพราะไปขัดผลประโยชน์ของคนอื่น แต่อย่างไรก็แล้วแต่ เรื่องนี้ ถ้าวันนี้ผมจะต้องถูกเตะ ถูกลอบทำร้าย ก็เกิดจากการที่ผมจะต้องมาเป็นแนวหน้าในการบุกกับเรื่องที่จะเป็นปัญหาต่อเยาวชนของชาติ ผมก็พร้อมที่จะเจ็บ ถึงตายได้ไม่มีปัญหาหรอก” นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าว
วันเดียวกัน สสส. ร่วมกับ สคบ. ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จัดแถลงข่าว “ปลอดภัยจากควันพิษ : ร่วมรณรงค์ ขจัดบุหรี่ไฟฟ้า สร้างสังคมสุขภาพ” เพื่อสร้างความตระหนักในพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า โดย นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผอ.กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สคบ. กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้เรากำลังต่อสู้กับคนที่บอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องดี สร้างรายได้มหาศาล สร้างข้อมูลว่าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน ประเทศอื่นปล่อยฟรี นี่คือสงครามข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เด็กเยาวชนได้ยินบ่อยจนเกิดความเคยชิน โดยพบเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน 30% สคบ. จึงใช้กฎหมายเข้าไปตรวจสอบดำเนินการตามที่ได้รับแจ้งเบาะแสเข้ามาทั่วประเทศ ย้ำว่าเจ้าหน้าที่ส่วนมากไม่อยากให้มีบุหรีไฟฟ้าในประเทศ แต่ก็ยังมีส่วนน้อยที่มีผลประโยชน์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันร้านมีการปรับกลยุทธ์มีหน้าร้านจริง แต่สต๊อกของไว้ที่อื่น ตั้งกลุ่มไลน์ผู้ซื้อแล้วค่อยส่งของตามไป
“บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้สูบวันนี้แล้วตายวันนี้ แต่สูบวันนี้ผ่านไป 3 ปี จะมีคนป่วยทางเดินหายใจล้นโรงพยาบาล ดังนั้น สคบ. ต้องไปสกัด แม้จะมีกำลังคนจำกัด แต่มีเครือข่าย เยาวชนที่คอยแจ้งเบาะแส ซึ่งเมื่อเดือน ก.พ. 2567-ปัจจับุน ยึดบุหรี่ไฟฟ้าหลายแสนชิ้น มูลค่า 80 กว่าล้านบาท เชื่อหรือไม่ว่าบางคนมั่นใจว่าพกไว้ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งต้องบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิกกฎหมายการลักลอบนำเข้ามีโทษตามกฎหมายศุลกากร จำคุก 5 ปี เด็กที่พกอาจจะผิดกฎหมายนี้ก็ได้ มีประวัติติดตัว ดังนั้นเราต้องปกป้องเด็กจากด้านนี้ด้วย”
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้ผลกระทบด้านสุขภาพสูง คนไทยเสียชีวิตของคนไทยจากโรคมะเร็งที่เกี่ยวกับบุหรี่ถึง 26.1% เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 2-4 เท่า และมะเร็งปอด 25 เท่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าเป็นกระแสนิยมในเด็ก เยาวชน และผู้หญิง มีคนไทยสูบเพิ่มขึ้นจาก 78,742 คน ในปี 2564 เป็น 709,677 คน ในปี 2565 เนื่องจากธุรกิจหันมาเจาะกลุ่มนี้ พยายามสื่อสารให้เข้าใจผิดว่า การสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติและเรื่องธรรมดา ทำให้ผลสำรวจบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชนไทย (GYTS) ปี 2565 พบเด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า คือ จาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6% ในปี 2565 สสส. จึงต้องเดินหน้าสื่อสารปรับพฤติกรรมคน กับอีกด้านคือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยโดยการสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร กรรมการวิชาการ ศจย. กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกา ในอดีตมีคดีการฟ้องร้องบริษัทบุหรี่ ที่มีการโกหกสาธารณะว่าไม่เกิดการเสพติด การควบคุมระดับสารของนิโคตินได้ ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ การทำการตลาดต่อเด็กและเยาวชน ทำให้บริษัทแพ้คดีต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวนมหาศาล ล่าสุดสหรัฐอเมริกาก็กำลังฟ้องร้องบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าที่ปกปิดข้อมูลและทำการตลาดกับเด็ก ขณะที่ประเทศไทยเริ่มมีปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าทั้งที่ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันไม่มีงานวิจัยชิ้นไหนยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัย แต่มีผลวิจัยพบว่ามีผลกระทบสุขภาพ ระบบหลอดเลือด โรคไม่ติดต่อ และมีปัญหาการแทรกแซงทางการเมือง มีการกำหนดการค้าระหว่างประเทศ กับเรื่องสุขภาพ และตอนนี้ด้วยความที่ไม่รู้ว่าปลอดภัยหรือไม่ก็ต้องห้ามไว้ก่อน ซึ่งหลายประเทศกลับมาห้ามแล้วเพราะเด็กในประเทศติดเยอะ.