เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ มีการเตรียมพร้อมอย่างไร เนื่องจากมีรายชื่อเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคชุดที่จะถูกตัดสิทธิ ว่า ในวันนั้นมีความเป็นไปได้หลายทาง เราคิดถึงความเป็นไปได้ และข้อจำกัดก่อน ตอนนี้พยายามดูว่างานในความรับผิดชอบทั้งหมด มีอะไรที่ทำได้บ้างทั้งก่อนและหลัง วันที่ 7 ส.ค. ซึ่งก็ต้องพยายามแยกส่วน แต่ถ้าถามว่า จะหยุดการทำงานของเราในระยะต่อไปได้หรือไม่ ก็ไม่ เพราะงานดังกล่าว เราได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ได้มีการเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ
เมื่อถามว่าได้มีการพูดคุย หรือให้กำลังใจกับเพื่อน สส. ในพรรคก้าวไกลหรือไม่นั้น นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า คุยกันในฐานะเพื่อนแบบไม่มีพรรค เป็นที่น่าประหลาดใจว่า ไม่มีใครหวั่นเกรงอะไรเลย ทุกคนยังคงทำงานอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า ในวันนั้นจะมีโอกาสไปร่วมงานที่พรรคก้าวไกลหรือไม่ เนื่องจากจะมีการจัดกิจกรรมที่ที่ทำการพรรค นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบตารางงานนั่งบัลลังก์ งานหลักคือการรับผิดชอบการประชุม ถ้าเพื่อนๆ ไปรวมตัวกันที่ไหน ก็ค่อยติดตามข่าว
ส่วนการอ่านคำวินิจฉัย จะกระทบต่อตำแหน่งรองประธานสภา คนที่ 1 หรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า แน่นอน คำวินิจฉัยที่หากยุบพรรคแล้ว ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคด้วย คุณสมบัติของตำแหน่งรองประธานสภา ระบุว่า ต้องเป็น สส. หากสภาพ สส.สิ้น การทำงานของรองประธานสภาก็สิ้นเช่นเดียวกัน
เมื่อถามว่า มองอย่างไรถึงกระแสข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลอยากได้ตำแหน่งดังกล่าวหากนายปดิพัทธ์หลุด ก็อาจจะมีคนเสนอชื่ออื่นที่ไม่ได้มาจากพรรคก้าวไกล นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของสภา เพราะตำแหน่งในสภาทั้งหมด มาจากการเสนอชื่อโดย สส. แต่ก็คิดว่าตำแหน่งนี้คงไม่มีใครอยากได้มาก หรือถ้าได้ไปแล้วจะเกิดประโยชน์โทษผลทางการเมืองอะไรบ้าง ขออย่างเดียวใครก็ตามที่มาแทนตน หากเห็นด้วยกับแนวทางที่ตนพยายามพัฒนาสภาอยู่ ก็ให้พัฒนาต่อ
นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนตำแหน่งที่ได้จากการทำเอ็มโอยูระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยนั้น ตำแหน่งนี้ยังควรจะเป็นของพรรคก้าวไกลอยู่หรือไม่ ไม่แน่ใจว่าเอ็มโอยูนั้น จะมีสาระอยู่หรือไม่ แน่นอนว่าเรายังคาดหวังการรักษาคำพูด เพราะประชาชนเจ็บปวดกับการเสียคำพูดมาหลายรอบแล้ว
“แต่แน่นอนว่า เอ็มโอยูก็คือเอ็มโอยู เราเห็นการฉีกมาแล้ว ไม่ได้คาดหวังมาก แต่ถ้าเราเห็นถึงหลักการที่ควรจะเป็น เช่น การมีรองประธาน 1 ใน 3 ที่มาจากฝ่ายค้าน ทำให้เกิดความสมดุลในความเป็นกลาง ไม่ใช่เป็นกลางในเชิงบุคคล แต่เป็นความเป็นกลางในเชิงสถาบัน ซึ่งอาจเป็นออพชั่นที่ดี ที่ทางวิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน ได้คุยกัน” นายปดิพัทธ์กล่าว.