เมื่อวันที่ 30 ก.ค. นพ.ปราโมทย์ ศรีสำอางค์ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. … (กฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ.) ที่อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นว่า หลักการใหญ่เชื่อว่า เป็นทางออกที่ตอบโจทย์ได้ เนื่องจากในกระทรวงสาธารณสุข มีหลากหลายวิชาชีพ ที่ผ่านมาเคยมีเวทีแลกเปลี่ยนเรื่องนี้เกือบ 10 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งเมื่อมองภาพในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มีกับดัก คือ 1. กรอบอัตรากำลังของบุคลากรสาธารณสุข ซึ่ง ก.พ. มีหลักกำหนดอัตรากำลัง เพื่อไม่ให้มากจนเกินไป ถือเป็นหลักคิดที่ถูกต้องของการบริหารบุคลากร แต่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข จะมีบริบทที่แตกต่างกัน เนื่องจากมีเรื่องการให้บริการ ภาระงานที่มากเกินไป เพราะผู้รับบริการมีจำนวนมากขึ้น จึงต้องมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้เพิ่มอัตรากำลัง และมีค่าจ้างที่เหมาะสม

“ในส่วนของการเพิ่มกรอบอัตรากำลังที่สอดคล้องกับภาระงานและได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม หากเราสามารถแยกตัวออกจาก ก.พ. ได้เหมือนกรณีของอัยการ และข้าราชการครู ที่ทำสำเร็จแล้ว จะทำให้ในอนาคต บุคลากรทั้งหมดจะทำงานได้อย่างมีความสุข มีดุลยภาพในการดำรงชีวิต และที่สำคัญยังจะช่วยป้องกันปัญหาสมองไหลในวิชาชีพที่ขาดแคลน” นพ.ปราโมทย์ กล่าว

2. ตนมองว่า การออกจาก ก.พ. จึงเป็นเรื่องที่ดีและควรสนับสนุน เพราะกระทรวงฯ ส่งเสริมระบบสุขภาพปฐมภูมิ การแยกตัวออก ทำให้การบริหารจัดการอัตรากำลัง การวางทิศทางกำลังคนช่วยเสริมงานสุขภาพปฐมภูมิได้มากขึ้น ที่สำคัญขณะนี้ผู้บริหารระดับสูง ทั้งฝ่ายการเมือง และข้าราชการประจำเห็นด้วยในหลักการ และพยายามให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว และขณะนี้การโอนถ่าย รพ.สต. ไปให้ท้องถิ่นรับผิดชอบ โดยเฉพาะงานในส่วนของปฐมภูมิเกือบทั้งหมด และต้องสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ดังนั้น หากออกจาก ก.พ. จะทำให้การทำงานในแต่ละระดับ มีความสอดประสานกันได้อย่างลงตัวและราบรื่น

นพ.ปราโมทย์ กล่าวต่อว่า การผลักดันในครั้งนี้คิดว่า น่าจะผ่านไปได้ ประเด็นที่สำคัญมาก คือ หมวด 1 (มาตรา 7-21 ) เรื่องของคณะกรรมการนั้น จะต้องมีที่มาชัดแจ้ง โปร่งใส และเป็นธรรม เพื่อให้ทุกกลุ่มวิชาชีพได้มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง ต้องมีคณะทำงานจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามา ตนมองว่าสภาวิชาชีพทั้งหมด ทั้งแพทยสภา แพทยสมาคมฯ สภาพยาบาล สภาเภสัชกรรม ชมรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน รวมทั้ง สพศท. จะต้องมีตัวแทนคนที่มีแนวความคิดเพื่อไปแลกเปลี่ยนให้สมบูรณ์ที่สุด และไม่ใช่แค่แวดวงสาธารณสุข ยังต้องมีการเงินการคลัง เศรษฐศาสตร์ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ต้องมาร่วมกันคิดกันทำ ขับเคลื่อนไปให้ได้

“หลักการใหญ่ของ พ.ร.บ. เป็นหลักกว้างๆ แต่คณะทำงานต้องมาช่วยกันคิดวิเคราะห์เพื่อสามารถนำไปปฏิบัติ และตอบโจทย์การแก้ปัญหาต่างๆ ได้จริง อะไรที่ติดขัดก็จะเดินหน้าได้ โดยเฉพาะประเด็นเงิน อัตราตำแหน่ง ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ได้ ไม่ให้บางกลุ่มรู้สึกว่าตัวเองได้น้อยเกินไป” ประธาน สพศท. กล่าว.