วันที่ 30 ก.ค. นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (30 กรกฎาคม 2567) มีมติเห็นชอบ/อนุมัติ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ดำเนินโครงการสินเชื่อ SME green productivity (โครงการฯ) วงเงิน 15,000 ล้านบาทและให้ ธพว. แยกบัญชีการดำเนินโครงการออกจากการดำเนินการตามปกติเป็นโครงการธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account: PSA)

รวมทั้งสามารถนำส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ได้รับชดเชย เพื่อบวกกลับในการคำนวณโบนัสประจำปีของพนักงานได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจได้

2. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยเพื่อดำเนินโครงการฯ โดยขอรับงบประมาณชดเชยเป็นระยะเวลา 3 ปี ในกรอบวงเงินงบประมาณ 1,350 ล้านบาท

โครงการสินเชื่อ SME green productivity เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำและมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะสามารถฟื้น ปรับปรุงกิจการ ขยายธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ รวมถึงเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจกรรม

โดยโครงการฯ ดังกล่าว มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำคัญ เช่น วงเงินโครงการ 15,000 ล้านบาท วงเงินอนุมัติสินเชื่อสูงสุดต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 ร้อยละ 3 ต่อปี (รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้ ธพว. ร้อยละ 3 ใน 3 ปีแรก) โดยปีที่ 4 เป็นต้นไปให้เป็นไปตามที่ ธพว. กำหนด โดยมีระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี (ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี)

ซึ่งผู้กู้สามารถใช้ประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมค้ำประกันหรือใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันตามที่ ธพว. กำหนด และมีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ โดยจะสิ้นสุดรับคำขอกู้ภายใน 30 ธันวาคม 2568 หรือจนกว่าวงเงินสินเชื่อร่วมในโครงการจะหมด ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ธพว. มีความจำเป็นต้องขอรับงบประมาณชดเชยจากรัฐบาลเพื่อชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้กับ ธพว. รวมทั้งทั้งสิ้นไม่เกิน 1,350 ล้านบาท ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง/เห็นชอบ

โดยมีความเห็นเพิ่มเติมบางประการ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่า ธพว. ควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายและคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการสนับสนุนสินเชื่อให้ชัดเจน รวมถึงมีกระบวนการติดตามการใช้สินเชื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การกู้ยืม และสำนักงบประมาณเห็นว่า สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น เห็นควรให้ ธพว. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอรับการสื่อสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริงตามขั้นตอนต่อไป เป็นต้น