เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 67 นายธนยศ หิรัญเนตร นายอำเภอแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สั่งการให้ นายคณิน ทองก้อน ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วย นายหาญณรงค์ แก้วเกตุ นายก อบต.ห้วยแม่เพรียง ร.ท.ก้องเกียรติ เวฬุสุวรรณ ทหารชุด ฉก.ทัพพระยาเสือ นายประพันธ์ จิตเทศ หัวหน้าชุดป้องกันและปราบปราม อช.แก่งกระจาน กู้ภัยตำรวจภูธรแก่งกระจาน อส.รักษาดินแดนอำเภอแก่งกระจาน นำเรือท้องแบนพร้อมถุงยังชีพ ยาสามัญประจำบ้าน ยาทารักษาน้ำกัดเท้า โลชั่นกันยุง ผงไล่แมลง 500 ชุด ลำเลี่ยงขึ้นเรือล่องทวนน้ำป่าขึ้นไปตามเส้นทางต้นน้ำเพชรบุรี เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

เนื่องจากในพื้นที่ได้เกิดฝนตกหนักลงมา ตั้งแต่วันที่ 24 กค.ที่ผ่านมา ทำให้มีมวลน้ำป่าจำนวนมากไหลบ่าเข้าท่วม ถนนทางเข้าหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย สูงประมาณ 2-3เมตร จำนวน 3 จุด ได้แก่ จุดที่1.ห้วยบ้านตา 2.ถนนเตี้ย และ 3.แก่งมะปราง ส่งผลให้รถยนต์ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านนับ 100 ครัวเรือน ถูกตัดขาดไม่สามารถออกมาจากหมู่บ้านได้ และชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนหนักมีความต้องการยา-เวชภัณฑ์ และอาหารแห้งเป็นจำนวนมาก

นายหาญณรงค์ แก้วเกตุ นายก อบต.ห้วยแม่เพรียง กล่าวว่า วันนี้ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานในพื้นที่ นำถุงยังชีพมามอบให้แก่ชาวบ้านน้ำป่าตัดขาดเส้นทางเข้าหมู่บ้าน จุดแรกบ้านตามูล ระยะทาง 300 เมตร น้ำลึกประมาณ 2 เมตร จุดที่2 ถนนเตี้ยระยะทาง 1 กิโลเมตร น้ำลึกประมาณ 3 เมตร และ จุดที่ 3 แก่งประปราง ระยะทาง 300 เมตร น้ำลึกประมาณ 2 เมตร รถไม่สามารถผ่านไปได้ โดยฝนได้เริ่มตกลงมา ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค. จนน้ำท่วมเส้นทางในวันที่ 25 ก.ค. สถานการณ์ฝนในพื้นที่ยังคงตกต่อเนื่องอีก 3-4 วันนี้ พร้อมกันนี้ทาง อบต.ห้วยแม่เพรียง ได้เปิดรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อนำไปช่วยเหลือมอบให้แก่ชาวบ้าน โดยกำหนดจุดไว้ที่วัดห้วยแม่เพรียง และ วัดแก่งกระจานเป็นจุดรับบริจาคสิ่งของ

นายคณิน ทองก้อน ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง เปิดเผยว่า กรณีเร่งด่วนจะประสาน อบต. ให้ประสานงานขอเฮลิคอปเตอร์ในการส่งกำลังหรือส่งกลับได้ ใช้รถของราษฎรขนย้ายสิ่งของตามถนนจากจุดน้ำท่วมที่ 1.ห้วยบ้านตามูล ไปสู่จุดที่ 2.ถนนเตี้ย จากนั้นจะใช้เรือส่งข้ามขนย้ายสิ่งของต่อด้วยรถบรรทุกทางทหาร และหากในในจุดที่ 3.แก่งมะปรางมีน้ำสูงจนไม่สามารถขนย้ายด้วยรถได้จะใช้วิธีทำสายส่งข้ามประกอบแพในการขนย้ายสิ่งของข้าม ประสานให้ ผญบ. ทั้ง 2 หมู่บ้าน เร่งสำรวจผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง คนท้องที่อายุครรภ์เกิน 8 เดือน เด็ก คนชรา ผู้พิการอื่นๆ ให้จัดทำบัญชีไว้ พร้อมซักซ้อมลำดับเตรียมการอพยพหากจำเป็น และให้ระวังภัยดินสไลด์ หรือผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำป่าอย่างใกล้ชิดต่อไป