แหล่งข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สำนักงาน กสทช.ได้กำหนดกรอบเวลาในการจัดการประมูลการใช้สิทธิโคจรดาวเทียม ณ ต่าแหน่งวงโคจร  50.5,51  องศาตะวันออก(อี) และ 142 อี  ในลักษณะจัดชุด (แพ็กเกจ) ที่ยังไม่สามารถจัดประมูลออก เนื่องจากไม่มีเอกชนรายใดสนใจเข้าร่วมประมูลเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา ทำให้ต้องนำมาจัดประมูลใหม่ เป็นครั้งที่ 2 โดยได้วางกรอบการจัดประมูลไว้ดังนี้ คือ วันที่ 4-25 มิถุนายน 67 เปิดให้มีการรับเอกสารการคัดเลือก วันที่ 26 มิถุนายน ประชุมเพื่อชี้แจงกระบวนการคัดเลือก และการออกแบบคำขอรับอนุญาต

จากนั้นวันที่ 23 กรกฎาคม  เปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ายื่นเอกสาร และหลักฐานการขอใบอนุญาต และชำระค่าพิจารณาคำขอ วางหลักประกันการขอรับใบอนุญาต  หลังจากนั้นในวันที่ 13 สิงหาคม จะทำการประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ  และวันที่ 21 สิงหาคม จะนัดเอกชนที่เข้าร่วมประมูลประชุมเพื่อชี้แจงกระบวนการประมูล กฎหมายประมูล และการประมูลรอบสาธิต และวันที่ 24 สิงหาคม  จัดให้มีการประมูล ต่อจากนั้น วันที่ 31 สิงหาคม ภายหลัง 7 วัน จากการประมูล  ทาง กสทช. จะทำการรับรองผลการประมูล

แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า ทั้งนี้หลังจากเปิดให้รับเอกสาร มีเอกชน 2 ราย คือ  บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ไทยคม และ บริษัท พร้อม เทคนิคอล จำกัด เข้ารับเอกสารรายละเอียดในการประมูล แต่เมื่อมาถึง 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา  ที่เปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ายื่นเอกสาร และหลักฐานการขอใบอนุญาต กลับไม่มีเอกชนรายใดยื่นเอกสารเข้าร่วมประมูลแต่อย่างใด  ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า เมื่อไม่มีเอกชนสนใจ  ซึ่งตามหลักเกณฑ์แล้ว เมื่อทางสำนักงาน กสทช.สามารถจัดการประมูลในสองวงโคจรนี้ได้ ก็ต้องส่งสิทธิการใช้งานคืนกลับให้ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู)

ทั้งนี้สาเหตุที่วงโคจรทั้งสองตำแหน่ง ที่ไม่มีเอกชนเข้าร่วมประมูล น่าจะมีสาเหตุจากการเอกชน มองว่า เป็นวงโคจรที่มีพื้นที่การให้บริการที่ทับซ้อนกับของเดิมที่เอกชนมีอยู่แล้ว และก็มีคู่แข่งจากต่างประเทศในพื้นที่ ก็มีให้บริการอยู่แล้ว ทำให้เป็นวงโคจรที่ไม่น่ามีโอกาสที่จะทำธุรกิจอาจไม่คุ้มกับการลงทุน และยังต้องแข่งขันกับต่างประเทศ และหากเข้าร่วมประมูลและได้รับสิทธิก็ต้องเป็นภาระในการจัดหาดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรตามข้อกำหนด ไม่เช่นนั้นจะโดนค่าปรับ

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมา บอร์ด กสทช. ได้ทำการแก้ไขปรับปรุง และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต ให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม  เพื่อดึงดูดให้เอกชนสนใจเข้าร่วมประมูล อาทิ ปรับลดราคาลง โดยวงโคจร 50.5,51 องศาตะวันออก จากเดิม ราคา 374 ล้านบาท เหลือ 41 ล้านบาท และ วงโคจร 142 องศาตะวันออก ราคา 189 ล้านบาท เหลือ 23 ล้านบาท แต่ก็ได้เพิ่มเงื่อนไขผลตอบแทนให้กับรัฐ เป็น X% ของรายได้ต่อปีด้วย โดยมีขั้นต่ำเริ่มที่ 2.5% หากมีการเคาะราคาต่อครั้งก็จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นครั้งละ 0.25% ด้วย  แต่ยังไม่มีเอกชนสนใจ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการจ่ายค่าปรับ กรณีผู้ชนะประมูลได้สิทธิวงโคจรไปแล้วไม่สามารถนำไปประกอบธุรกิจได้นั้น จะโดนปรับตามราคาเริ่มต้นประมูลเท่ากับราคาครั้งที่ผ่านมาคือ วงโคจร 50.5,51 องศาตะวันออก ราคา 374 ล้านบาท และ วงโคจร 142 องศาตะวันออก ราคา 189 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้ว่าได้มีการปรับลดราคาเริ่มต้นการประมูลลง แต่ก็ได้เพิ่มเงื่อนไขผลตอบแทนให้กับรัฐ เป็น X% ของรายได้ต่อปีด้วย โดยมีขั้นต่ำเริ่มที่ 2.5% หากมีการเคาะราคาต่อครั้งก็จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นครั้งละ 0.25% ด้วย

นอกจากได้ ยังได้ปรับเงื่อนไขการมีดาวเทียมเป็นของตนเอง จากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี เพื่อให้มีระยะเวลาในการดำเนินการที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพราะพื้นที่ให้บริการของดาวเทียมในครั้งนี้อยู่ต่างประเทศ อย่างไรก็ตามเงื่อนไขในการนำคลื่นความถี่ขึ้นใช้งานกับดาวเทียมเพื่อรักษาสิทธิวงโคจรยังคงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับของ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) เช่นเดิม