ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมา ชาวมองโกเลียจำนวนมากใช้ชีวิตอยู่กับปศุสัตว์ของพวกเขา ในกระโจมทรงกลมที่เรียกว่า “เกอร์” ซึ่งพวกเขาจะเก็บข้าวของและย้ายไปที่อื่นตามฤดูกาล
ตามข้อมูลของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ชาวมองโกเลียร้อยละ 25 จากจำนวนทั้งหมดประมาณ 3.4 ล้านคน ยังคงใช้ชีวิตแบบเร่ร่อน แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ชาวมองโกเลียหลายแสนคนย้ายไปอยู่ในกรุงอูลานบาตอร์ ซึ่งปัจจุบันมีประชากรราวครึ่งหนึ่งของประเทศ
สำหรับผู้หญิงอย่างคูลัน เธอถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเธอให้สัมภาษณ์ว่า ชาวมองโกเลียอีกหลายคนที่เติบโตมาบนทุ่งหญ้าเหมือนกับเธอ ต่างปฏิเสธชีวิตที่ต้องทำงานหนัก และต่อสู้กับภัยธรรมชาติ จนนำมาสู่การเลือกใช้ชีวิตที่แตกต่างออกไปในเมือง ซึ่งพวกเขาสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย, การศึกษา และสวัสดิการได้ดีกว่า
ด้านพ่อแม่ของคูลัน ซึ่งย้ายมาอยู่ใกล้เมืองหลวงมากขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ยังใช้ชีวิตแบบคนเลี้ยงสัตว์ก็ตาม กล่าวว่า พวกเขาพลาดหลายสิ่งหลายอย่าง ในช่วงความวุ่นวายที่มองโกเลียเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชา ธิปไตย และต้องการให้ลูกหลานทำในสิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้
คูลัน พยายามไปเยี่ยมพ่อแม่ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และช่วยแม่ของเธอเตรียมอาหารกลางวันในเกอร์ตามหน้าที่ ขณะที่บุตรชายของเธอ ซึ่งเติบโตในเมือง วิ่งเล่นไปตามทุ่งหญ้าสีเขียวขจี ซึ่งคูลันกล่าวว่า ชาวมองโกเลียทุกคนไม่ได้มีโอกาสของการใช้ชีวิตในเมืองและในชนบทอย่างสมดุลเช่นนี้เหมือนกันหมด
อนึ่ง คำพูดของคูลัน สะท้อนถึงบรรทัดฐานดั้งเดิมของสังคมที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ในมองโกเลีย โดยบุตรชายจะสืบทอดการดูแลปศุสัตว์ และรับผิดชอบการดำรงชีพของครอบครัว กระนั้น คูลันกล่าวว่า มันมักจะสื่อถึง “การละเมิดสิทธิในการเรียน”
นอกจากนี้ การใช้ชีวิตทั้งสองรูปแบบของชาวมองโกเลีย ยังก่อให้เกิดความแตกต่างมากมาย และส่งผลกระทบต่อหลายแง่มุมในชีวิต ม่ว่าจะเป็น ชื่อเสียง, สถานะ, โชคลาภ หรือแม้แต่การหาคู่ชีวิต
แม้ชีวิตในเมือง เป็นสิ่งที่ชาวมองโกเลียหลายคนพยายามไขว่คว้า แต่ในทางกลับกันชีวิตในกรุงอูลานบาตอร์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากปัญหาการจราจร และมลพิษทางเสียง เป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไป อีกทั้งในแต่ละปี เมืองแห่งนี้ก็ถูกหมอกควันหนาทึบปกคลุมเป็นเวลานานหลายเดือน ส่งผลให้ชาวเมืองจำนวนมากเชื่อว่า ชนบทให้ชีวิตที่ดีกว่า
ทั้งนี้ทั้งนั้น ชาวมองโกเลียหลายคนกล่าวว่า ช่องว่างระหว่างคนในชนบทกับคน ในเมืองกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทั้งสองฝ่ายต่างเมินเฉยต่อปัญหาที่อีกฝ่ายเผชิญอยู่.