ภายใต้การนำของหัวเรือหญิงคนใหม่ “จิราพร ศิริคำ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการพลังงานมาอย่างยาวนาน ก่อนที่จะมานั่งตำแหน่งหัวเรือใหญ่ที่เอ็กโก “จิราพร” นั่งเป็นรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งยังเป็นโฆษก กฟผ. ทำให้ “จิราพร” เข้าใจในเรื่องพลังงานอย่างลึกซึ้ง เข้ามาสานต่อการทำงานต่อจาก “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ซีอีโอเอ็กโก กรุ๊ป คนเดิมที่ย้ายไปเป็นผู้ว่าการ กฟผ. ได้เป็นอย่างดี
“จิราพร” ได้เปิดวิสัยทัศน์ของเอ็กโก กรุ๊ป เน้นเรื่องความยั่งยืนในทุกด้าน คือ เสริมศักยภาพ เพิ่มโอกาสเพื่อการเติบโตของเอ็กโก กรุ๊ป อย่างยั่งยืน มีทิศทางการดำเนินงาน Cleaner, Smarter and Stronger to drive sustainable growth เริ่มจาก Cleaner มุ่งเน้นการปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังงานหลักให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การใช้ไฮโดรเจนหรือแอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้า การศึกษาและใช้เทคโนโลยี CCS หรือ CCUS การเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดใน Portfolio เพื่อบรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เป็น 30% ภายในปี 2573 จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 21%
Smarter ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในระบบไฟฟ้า โดยลงทุนและเดินเครื่องโรงไฟฟ้าคุณภาพสูงที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง พร้อมกับการแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องที่เติบโตสูง เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
และที่สำคัญต้องมี Stronger ด้วยการผนึกกำลังกับพันธมิตรเพื่อขยายและต่อยอดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเอ็กโก กรุ๊ป มีความได้เปรียบจากการมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งใน 8 ประเทศ ที่มีฐานทางธุรกิจอยู่แล้ว ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพลังงานในเยาวชนผ่านศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม รวมถึงร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและทรัพยากรธรรมชาติผ่านการดำเนินงานของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า
หนึ่งในโครงการใหญ่ที่สำคัญของเอ็กโก กรุ๊ป คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง หยุนหลิน ในไต้หวัน ซึ่งเอ็กโก กรุ๊ป ถือหุ้นในสัดส่วน 26.56% ในโครงการ มีกำลังผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบไต้หวัน ห่างจากชายฝั่งทะเลทางตะวันตกของมณฑลหยุนหลิน ในไต้หวัน เป็นระยะทางประมาณ 8-30 กิโลเมตร มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี กับ Taipower
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การก่อสร้างโครงการฯ จะมีการ ติดตั้งเสากังหันลม (Monopiles) และกังหันลม (Wind Turbine Generators – WTGs) ทั้งหมดจำนวน 80 ต้น มีความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 15 ก.ค. 67 โครงการฯ ได้ติดตั้ง Monopiles แล้วเสร็จครบ 80 ต้น เร็วกว่าแผนงานที่กำหนด และติดตั้ง WTGs แล้วเสร็จ 56 ต้น อีกทั้งงานก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ส่วนอื่น ๆ สามารถดำเนินการไปได้ด้วยดีตามแผนงาน ที่เหลือการติดตั้ง WTGs อีก 24 ต้น จะแล้วเสร็จครบ 80 ต้น กำลังผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบครบทั้งหมด ภายในสิ้นปีนี้ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้การก่อสร้างโครงการหยุนหลินได้คำนึงถึงการดูแลและปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลในทุก ๆ ขั้นตอน เพื่อไม่ให้มีปัญหาถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่ หรือสร้างผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล และยังเป็นการนำไปสู่การสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการดำเนินโครงการ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน
สำหรับ มาตรการดูแลสิ่งแวดล้อม ในขั้นตอนการตอกเสากังหันลม เป้าหมายหลัก เป็นการดูแลและปกป้องสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล โดยเฉพาะโลมาสีชมพู ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง ด้วยการป้องกันไม่ให้สัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วาฬหรือโลมา ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เข้ามาในบริเวณที่มีการก่อสร้าง รวมถึงลดผลกระทบและตรวจสอบระดับเสียงใต้น้ำให้เป็นไปตามมาตรฐาน การดำเนินงานป้องกันไม่ให้สัตว์ทะเลเข้ามาในพื้นที่ก่อสร้าง
ก่อนการก่อสร้างจริง 30 นาที จะมีการส่งเรือ 4 ลำ ไปใน 4 ทิศทาง ภายในรัศมี 750 เมตร รอบบริเวณที่มีการก่อสร้าง Monopiles หรือเรียกว่า Exclusive Zone เพื่อสำรวจพื้นที่ล่วงหน้า และป้องกันไม่ให้สัตว์ทะเลเข้ามาพื้นที่ที่กำลังจะมีการก่อสร้าง
ระหว่างที่มีการตอก Monopiles จะมีการส่งเรืออีก 2 ลำ เพื่อสำรวจและป้องกันสัตว์ทะเล ในพื้นที่เฝ้าระวังเป็นชั้นที่ 2 หรือเรียก
ว่า Precautionary Area ในระยะ 750-1,500 เมตร จากรัศมีการตอก Monopiles ซึ่งหากมีสัตว์ทะเลเข้ามาในพื้นที่นี้ระหว่างการตอก Monopile ทางโครงการจะหยุดการก่อสร้างชั่วคราว และจะสามารถกลับมาดำเนินการต่อได้ เมื่อสัตว์ทะเลไม่ได้อยู่ในพื้นที่แล้ว
ขณะเดียวกันยังได้ ตรวจสอบระดับเสียงใต้น้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล โดยโครงการฯ ได้กำหนดมาตรฐานระดับเสียงใต้น้ำ ในพื้นที่ Exclusive Zone ไว้ไม่เกิน 160 เดซิเบล เนื่องจากเป็นระดับที่ปลอดภัยต่อสัตว์ทะเล โดยระหว่างการก่อสร้าง จะมีการสร้างม่านฟองอากาศใต้น้ำขึ้น 2 ชั้น ในระยะ 750-1,500 เมตร ล้อมรอบจุดที่มีการตอก Monopiles เพื่อลดผลกระทบทางเสียงลงกว่า 90% เพื่อช่วยปกป้องสัตว์ทะเลที่ใช้คลื่นอัลตราซาวด์ในการสื่อสาร
ส่วน มาตรการดูแลสิ่งแวดล้อม ในขั้นตอนการวางสายเคเบิลใต้น้ำ เพื่อดูแลคุณภาพน้ำและปกป้องสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ด้วยการติดตั้งม่านดักตะกอนตลอดแนวชายฝั่งน้ำตื้น (ความลึกน้อยกว่า 5 เมตร) ในระหว่างที่มีการติดตั้งสายเคเบิลใต้น้ำ เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่กระจายของสารแขวนลอย รวมถึงป้องกันไม่ให้ปลาหรือสัตว์ทะเลอื่น ๆ เข้ามาในบริเวณที่มีการก่อสร้าง.