ในการประชุมครั้งที่ 12/2567 เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 มหาเถรสมาคมมีมติให้วัดทุกวัดทั้งในและนอกราชอาณาจักร ใช้ “วชิโรปมกถา ว่าด้วยปัญญาประดุจเพชร” เป็นบทแสดงพระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ ในวันที่ 28 ก.ค. เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567 สำหรับเนื้อหาของ “วชิโรปมกถา ว่าด้วยปัญญาประดุจเพชร” มีดังนี้

ณ บัดนี้ จะรับประทานแสดงพระธรรมเทศนาใน วชิโรปมกถา ว่าด้วยปัญญาประดุจเพชร เพื่อเป็นเครื่องประคับประคองฉลองศรัทธา ประดับปัญญาบารมี อนุโมทนากุศลบุญราศีส่วนธัมมัสสวนมัย ที่ท่านสาธุชนทั้งหลายได้พร้อมใจกันบำเพ็ญให้เป็นไปเพื่อถวายพระพรชัยมงคลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งนับเป็นวาระมหามงคลของราชอาณาจักรไทยที่นำความปีติโสมนัสมาสู่จิตใจของปวงชนชาวไทยทั้งปวง ทั้งนี้เพราะพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญไว้ล้วนแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทยตามนัยแห่งพุทธพจน์ที่ว่า “อตฺตหิต ปรหิต อุภยหิต สพฺพโลกหิตเมว จินฺตยมาโน จินฺเตติ” เป็นต้น แปลความว่า “บุคคล เมื่อคิด ย่อมคิด เพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ส่วนรวม และประโยชน์ชาวโลกทั้งปวง บุคคลผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญามากย่อมเป็นเช่นนี้” ความหมายตามนัยแห่งพุทธพจน์นี้ก็คือว่า สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐทรงเป็นบัณฑิตผู้เพียบพร้อมด้วยอัตตหิตสมบัติและบำเพ็ญปรหิตปฏิบัติ ตลอดเวลา

อัตตหิตสมบัติ หมายถึง ความพร้อมแห่งคุณสมบัติส่วนพระองค์ที่พระบุญญาธิการหนุนส่งให้สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงมีพละคือกำลังของมหาบุรุษ 5 ประการ ตามนัยแห่งพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “พล ปญฺจวิธ โลเก ปุริสสฺมึ มหคฺคเต” แปลความว่า “มหาบุรุษผู้มีอัธยาศัยใหญ่ในโลกนี้มีกำลัง 5 ประการ” กล่าวคือ 1. พาหาพละ คือ กำลังแขนหรือกำลังพระวรกาย หมายถึง ทรงมีพระสุขภาพพลานามัย แข็งแรง สามารถใช้กำลังนี้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ได้เป็นอย่างดี 2.โภคพละ คือ กำลังโภคสมบัติ ได้แก่ การมีทุนทรัพย์บริบูรณ์พร้อมที่จะพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์และพระบรมราชูปถัมภ์ต่างๆ 3. อมัจจพละ คือ กำลังอมาตย์ องคมนตรี เสนา ข้าราชบริพาร เป็นคณะสนองงาน ที่เก่งกล้าสามารถและมากด้วยความจงรักภักดี 4. อภิชัจจพละ คือ กำลังแห่งชาติตระกูลสูง หมายความว่า ทรงเป็นอุภโตสุชาต ผู้มีพระชาติกำเนิดที่ประเสริฐทั้งฝ่ายพระบิดาและพระมารดาผู้มาจากตระกูลกษัตริย์ขัตติยวงศ์ 5. ปัญญาพละ คือ กำลังปัญญา หมายถึง ความฉลาดเฉียบแหลมที่เกิดจากการศึกษา และการคิดอย่างแยบคายที่ช่วยให้สามารถวินิจฉัยเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งภายในภายนอกได้ถูกต้องและแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี

บรรดากำลังทั้งห้าประการนี้ กำลังกายท่านจัดไว้ในอันดับที่ต่ำสุด เพราะกำลังกายที่ไม่มีกำลังปัญญากำกับย่อมทำประโยชน์ไม่ได้มาก กำลังปัญญาจัดว่าเป็นกำลังที่ประเสริฐยอดเยี่ยมกว่ากำลัง ทั้ง 4 ประการที่เหลือ เพราะกำลังปัญญาเป็นเครื่องกำกับ ควบคุม และนำทางกำลังเหล่านั้น อาทิเช่น กำลังปัญญาย่อมช่วยเพิ่มพูนกำลังโภคทรัพย์ ดังพุทธภาษิตที่ว่า “ปฏิรูปการีธุรวา อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธน” แปลความว่า “บุคคลทำเหมาะสม ไม่ทอดธุระ เป็นผู้หมั่น ย่อมหาทรัพย์ได้” ในทำนองเดียวกัน กำลังปัญญาทำให้สามารถปกครองดูแลกำลังอมาตย์หรือกำลังบริวารอย่างพอดีด้วยพระเดชและพระคุณ สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “นิคฺคณฺเห นิคฺคหารห ปคฺคณฺเห ปคฺคหารห” แปลความว่า “ข่มคนที่ควรข่ม ยกย่องคนที่ควรยกย่อง” เพราะเหตุที่ทรงเพียบพร้อมด้วยกำลังทั้งห้าประการเหล่านี้ สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ จึงสามารถบำเพ็ญ ปรหิตปฏิบัติ คือ การทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ พระศาสนา และพระบรมราชจักรีวงศ์ได้อย่างไพศาล ซึ่งเป็นไปตามพระปฐมบรมราชโองการที่พระราชทานไว้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพุทธศักราช 2562 ที่ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” พระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดนี้ เป็นเช่นเดียวกับที่สมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ได้ทรงปฏิญาณพระองค์เป็นแนวทางดำเนินพระราชจริยาสืบมาทุกรัชกาล ดังนั้น สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ จึงทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธาน และแนวพระราชดำริใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข ให้ประชาราษฎรในฝ่ายราชอาณาจักรดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์จากการรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร.ว่า ในรัชกาลก่อน มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินับตั้งแต่พุทธศักราช 2495 จนถึงพุทธศักราช 2556 รวมจำนวน 4,447 โครงการ สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า รัชกาลปัจจุบัน ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงสืบสาน รักษาและต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเหล่านั้นจนกระทั่งมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพิ่มมากขึ้นอีกหลายร้อยโครงการ ดังที่ กปร. รายงานว่า ในพุทธศักราช 2566 มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนทั้งสิ้น 5,176 โครงการ

ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชกรณียกิจฝ่ายพุทธจักร สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงมีพระราชดำรัสประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก เมื่อพุทธศักราช 2562 ว่า “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ แต่เดิมมาข้าพเจ้าได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสและถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะด้วยวิธีนั้นๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น บัดนี้ ข้าพเจ้าได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ บรมราชาภิเษกแล้ว จึงขอมอบตัวแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้า จะได้รับการจัดการ ให้ความคุ้มครองและรักษาพระพุทธศาสนาโดยชอบธรรมตลอดไป ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์ จงจำไว้ด้วยว่า ข้าพเจ้าเป็นพุทธศาสนูปถัมภกเถิด” ในฐานะที่ทรงเป็นพุทธมามกะ สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ นอกจากจะทรงศึกษาและปฏิบัติธรรมด้วยพระองค์เองแล้ว ยังพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์และพระบรมราชูปถัมภ์แก่การพระศาสนาด้วยวิธีต่างๆ ดังที่ทรงส่งเสริมการศึกษาและการปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ผ่านโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นผู้พระราชทานกำเนิดไว้เมื่อพุทธศักราช 2546 และสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ยังคงสืบสาน รักษาและต่อยอดพระราชกรณียกิจประการนี้สืบมา ด้วยการพระราชทานทุนศึกษาบาลีชั้นสูง และทุนระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ พร้อมกับทรงต่อยอดด้วยการพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวง ให้แก่หลักสูตรอบรมพระนักเทศน์ หลักสูตรอบรมพระวิปัสสนาจารย์ และหลักสูตรอบรมพระธรรมจาริก

พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญไว้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยมีมากมายเกินกว่าจะพรรณนาได้ครบถ้วน เฉพาะส่วนที่นำมาพรรณนาข้างต้นนั้นก็เป็นเพียงตัวอย่างของการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของพระราชบุพการีและสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมราชจักรีวงศ์ การที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงสามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ได้มากมายเป็นอเนกอนันต์ก็เพราะทรงครองแผ่นดินโดยธรรมตามนัยแห่งพุทธภาษิตที่ว่า “อล กาตุ อล ส วิธาตุ” แปลความว่า “ตนเองทำก็ได้ ใช้ให้คนอื่นทำก็ได้” ส่งผลให้เกิดความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรือง ทั้งในฝ่ายราชอาณาจักรและฝ่ายพุทธจักร สมด้วยพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “สพฺพ รฏฺฐํสุข เสติราชา เจ โหติ ธมฺมิโก” แปลความว่า “ถ้าพระราชาตั้งอยู่ในธรรม ราษฎรทั้งสิ้นย่อมอยู่เป็นสุข”

การที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงสามารถบำเพ็ญปรหิตปฏิบัติ คือ การทำประโยชน์สุขเพื่อประชาราษฎรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ก็เป็นเพราะทรงเพียบพร้อมด้วยกำลังทั้งห้าประการดังพรรณนามาข้างต้น ในบรรดากำลังทั้งห้าประการนั้น กำลังปัญญาท่านจัดว่าสำคัญที่สุด ผู้นำที่ดีต้องมีปัญญา ตามนัยแห่งพุทธศาสนสุภาษิตที่ ว่า “ธีโร จ พลวา สาธุ ยูถสฺส ปริหารโก” แปลความว่า “ผู้มีปัญญาและมีกำลัง ปกครองหมู่คณะ ดีนัก” ทั้งนี้ เพราะผู้ใดมีปัญญา ผู้นั้นชื่อว่าเป็นคนใจเพชร สมดังพระบาลีนิกเขปบทที่ยกขึ้นไว้ ณ เบื้องต้นว่า “อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว วชิรูปมจิตฺโต ปุคฺคโล” แปลความว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้ เรียกว่าผู้มีใจประดุจเพชร” ความหมายตามนัยแห่งพระบาลีนี้มีอยู่ว่า บุคคลได้ชื่อว่าเป็นคนใจเพชรก็เพราะมีปัญญาประดุจเพชร คำว่าปัญญาในที่นี้หมายถึงความฉลาดเฉียบแหลมที่สามารถตัดกิเลสในระดับโลกุตตระและสามารถแทงทะลุทุกปัญหาในระดับโลกิยะ สมดังที่พระนาคเสนกล่าวไว้ว่า “เฉทนลกฺขณา ปญฺญา” แปลความว่า “ปัญญา มีการตัดเป็นลักษณะ” ปัญญาที่ฉลาดเฉียบแหลมนี้ต้องมีความแข็งแกร่งเช่นเดียวกับเพชรที่ใช้ตัดอัญมณีอื่นๆได้ เพราะเพชรเป็นวัสดุธรรมชาติที่แข็งที่สุดในโลกจึงใช้ตัดสิ่งของในธรรมชาติได้ทั้งหมด แม้แต่เพชรก็ต้องตัดด้วยเพชรสมดังพระบาลีที่มาในวชิรสูตรที่ว่า “วชิรสฺส นตฺถิ กิญฺจิ อเภชฺช มณิ วา ปาสาโณ วา” แปลความว่า “ไม่มีแก้วมณีหรือก้อนศิลาใดที่เพชรตัดไม่ได้” โดยนัยนี้ จึงไม่มีปัญหาใดที่ปัญญาประดุจ เพชรแก้ไม่ได้ ปัญญาเป็นคุณธรรมที่มาคู่กับกรุณา คือ ความสงสารหวั่นใจปรารถนาจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ปัญญาและกรุณาจัดว่าเป็นคุณธรรมของมหาบุรุษ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมหาบุรุษผู้มีปัญญาเปรียบเหมือนคนที่ยืนอยู่บนยอดปราสาทแล้วมองลงมายังฝูงคนผู้อยู่บนพื้นดินที่กำลังประสบปัญหาต่างๆ แล้วเกิดความสงสารในใจ ดังพุทธพจน์ในธรรมบทที่ว่า “ปญฺญาปาสาทมารุยฺห อโสโก โสกินึ ปช” เป็นต้น แปลความว่า “บัณฑิตขึ้นสู่ปัญญาประดุจปราสาท ไม่มีความโศก ย่อมมองเห็นหมู่สัตว์ผู้มีความโศก ผู้มีปัญญาย่อมมองเห็นคนพาล เหมือนบุคคลอยู่บนภูเขามองเห็นคนผู้อยู่บนพื้นดิน ฉะนั้น”

ดังนั้น ความกรุณาจึงเป็นปกติวิสัยของมหาบุรุษผู้มีปัญญา ดังเรื่องต่อไปนี้ที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าไว้ในนิโครธชาดก ในอดีตกาลนานมาแล้ว เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญากวางทองชื่อว่านิโครธ เป็นหัวหน้าฝูงกวางซึ่งมีอยู่ประมาณ 500 ตัว อาศัยอยู่ในป่าใกล้กับกวางอีกฝูงหนึ่งจำนวนเท่ากันซึ่งมีพญากวางทองชื่อว่าสาขะเป็นหัวหน้า ในสมัยนั้นพระเจ้ากรุงพาราณสีโปรดเสวยเนื้อกวางจึงได้ออกเข้าป่าล่ากวางทุกวัน และเกณฑ์ชาวบ้านให้ไปกับพระองค์ด้วยทุกครั้ง ทำให้ชาวบ้านไม่มีเวลาประกอบการงาน ดังนั้น ชาวบ้านจึงรวมตัวกันไล่ต้อนกวางทั้งสองฝูง มากักไว้ในเขตพระราชอุทยานเพื่อให้พระราชาทรงล่าได้โดยสะดวก ครั้งหนึ่ง พระเจ้ากรุงพาราณสีได้เสด็จไปล่ากวางตามปกติ ทรงพบเห็นพญากวางทองทั้งสองคือนิโครธและสาขะที่มีลักษณะงดงามยิ่งนัก จึงประกาศพระราชทานอภัยว่าห้ามใครฆ่าพญากวางทั้งสองนั้น

พญากวางทั้งสองทำข้อตกลงร่วมกันว่า แทนที่กวางลูกฝูงทั้งหมดจะอยู่ด้วยความหวาดกลัวว่าเมื่อไรจะถูกล่าไปเป็นอาหารของพระราชา กวางแต่ละตัวจะแบ่งวาระกันเข้าไปนอนเอาหัวพาดเขียง ให้พ่อครัวฆ่าเพื่อทำอาหารถวายพระราชา นับเป็นการสละชีวิตหนึ่งเพื่อความอยู่รอดของหลายชีวิตในแต่ละวัน การก็เป็นมาอย่างนี้จนกระทั่งวันหนึ่งถึงวาระของนางกวางที่กำลังตั้งท้องจะต้องไปให้พ่อครัวฆ่า ด้วยความเป็นห่วงลูกในท้อง นางกวางตัวนี้จึงไปหาพญากวางทองชื่อว่าสาขะผู้เป็นหัวหน้าฝูง โดยขอให้เลื่อนวาระของตนออกไปเพื่อรอให้ตนออกลูกก่อน พญากวางสาขะผู้ไม่เคยคิดกรุณาต่อกวางอื่นได้ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือใดๆ นางกวางน้อยใจนักจึงไปขอความช่วยเหลือจากพญากวางทองชื่อว่านิโครธ เมื่อทราบปัญหาของนางกวางแล้ว พญากวางนิโครธผู้มากด้วยความกรุณาต่อกวางทุกตัว ก็ไม่อาจตัดใจส่งกวางอื่นใดไปตายแทนนางกวางได้ พญากวางนิโครธจึงตัดสินใจสละชีวิตของตนแลกกับชีวิตของนางกวางและลูกในท้อง โดยพญากวางนิโครธได้เข้าไปนอนเอาหัวพาดเขียงให้พ่อครัวฆ่าแทนนางกวางที่กำลังตั้งท้องนั้น แต่พ่อครัวก็ไม่กล้าฆ่าพญากวางนิโครธผู้ได้รับพระราชทานอภัยไว้แล้ว เขาจึงรีบไปกราบทูลรายงานเหตุการณ์ให้พระราชาทรงทราบ พระราชาเสด็จมาถามพญากวางว่าทำไมถึงยอมสละชีวิตเช่นนี้ พญากวางนิโครธจึงเล่าเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมดให้ทรงทราบ พระราชาทรงรู้สึกประทับใจในปัญญาและกรุณาของผู้นำที่เป็นบัณฑิตอย่างพญากวางนิโครธจึงพระราชทานอภัยแก่ฝูงกวาง และฝูงสัตว์ทั้งหมดในกรุงพาราณสี

ในเรื่องนี้ พญากวางนิโครธมีความกรุณาคือสงสารนางกวางและลูกในท้อง จึงใช้ปัญญาประดุจเพชรแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้ สมดังที่พระอรรถกถาจารย์สังวรรณนาไว้ว่า “ปญฺญาย สย ตรติ กรุณาย ปเรตาเรติ” แปลความว่า “มหาบุรุษพาตนเองข้ามพ้นทุกข์ด้วยปัญญา พาคนอื่นข้ามพ้นทุกข์ด้วยกรุณา” ในทำนองเดียวกัน สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงเป็นมหาบุรุษผู้เพียบพร้อมด้วยอัตตหิตสมบัติคือกำลังแห่งพระปัญญาประดุจเพชรและทรงบำเพ็ญปรหิตปฏิบัติด้วยอำนาจแห่งพระมหากรุณา จึงทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของพระราชบุพการีและสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่ประชาราษฎรตลอดไป นับแต่นั้นมา สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงครองแผ่นดินโดยธรรมตามพระราชปณิธานนั้นอันนำประโยชน์สุขมาสู่ประชาราษฎรเป็นอเนกอนันต์ สอดคล้องกับพุทธพจน์ที่ว่า “เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว มหาเมโฆ สพฺพสสฺสานิสมฺปาเทนฺโต พหุโน ชนสฺส อตฺถาย หิตาย สุขาย โหติ” เป็นต้น แปลความว่า “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาเมฆยังข้าวกล้าทั้งปวงให้งอกงาม ชื่อว่าย่อมมีมาเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนเป็นอันมากฉันใด สัปบุรุษคนดี เมื่อเกิดในตระกูล ย่อมเกิดมาเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนเป็นอันมาก ฉันนั้นเหมือนกัน

ดังนั้น ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลพร้อมด้วยคณะสงฆ์และประชาราษฎรทุกหมู่เหล่าได้มีสมานฉันท์พร้อมใจกันแสดงออกซึ่งความปีติ โสมนัส และความจงรักภักดีให้ปรากฏด้วยการทำความดีมีประการต่างๆ เพื่อน้อมถวายพระพรชัยมงคล เทสนาปริโยสาเน ในอวสานเป็นที่สุดแห่งพระธรรมเทศนานี้ ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และอานุภาพแห่งกุศลบุญราศีส่วนธัมมัสสวนมัย จงมารวมกันเป็นตบะเดชะ พลวปัจจัย สัมฤทธิผล เป็นพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ขอให้ทรงเจริญราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลพระชนมสุขทุกประการ พระบรมเดชานุภาพแผ่ไพศาล ทรงอภิบาลรักษาประเทศชาติ พระศาสนา และพระบรมราชจักรีวงศ์ ให้ดำรงวัฒนาสถาพร ตลอดจิรัฐิติกาล รับประทานแสดงพระธรรมเทศนาในวชิโรปมกถา พอสมควรแก่เวลา ขอยุติลงคงไว้ แต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้