ประเทศไทยกำหนดเป้าหมายไว้ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% พ.ศ.2573 ความตระหนักรู้ของผู้คนในสังคมในการบริโภคการใช้ชีวิตที่ทำให้โลกร้อนนำไปสู่การลงมือทำเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องสำคัญ
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI เดินหน้าสนับสนุนการบริโภคที่ยั่งยืน องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดกิจกรรมเดินขบวน “รักษ์โลก รักษ์ด้วยสินค้าฉลากเขียว” เผยแพร่ความรู้ วิธีการเลือกผลิตภัณฑ์ฉลากเขียว รวมถึงบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รุกกลุ่มเป้าหมาย วัยทำงาน ที่มีแนวคิดและพร้อมที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างบริเวณถนนสีลม อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และตลาดนัดจตุจักร พร้อมการเก็บข้อมูลจากประชาชน และประชาสัมพันธ์ช่องทางการรับข่าวสารของฉลากเขียวโดยกิจกรรมจัดขึ้น เมื่อวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2567 บริเวณถนนสีลม อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และตลาดนัดจตุจักร
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่าฉลากเขียว เป็นฉลากสิ่งแวดล้อมที่มีเกณฑ์เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งคงคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นสื่อของการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ที่ผ่านมาร่วม 30 ปีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยให้ความรู้แก่ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เกี่ยวกับฉลากเขียว และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียวมาแล้วกว่า 1 หมื่นรุ่น มากกว่า 200 บริษัท ใน 4 กลุ่มสินค้า คือ เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านและที่อยู่อาศัย อุปกรณ์ก่อสร้าง บริการ และยานพาหนะ
“หน้าที่ของเราคือให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการฉลากเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วิธีสังเกตโลโก้ฉลากเขียวบนบรรจุภัณฑ์ หรือหีบห่อของสินค้านั้นๆ เราต้องสื่อสารออกไปว่า การใช้ผลิตภัณฑ์ฉลากเขียวเป็นเรื่องง่ายที่ผู้บริโภคทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย สามารถทำได้ โดยผลประโยชน์นั้นจะตกแก่สิ่งแวดล้อม เริ่มจากการปรับเปลี่ยนง่ายๆ เพื่อผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่”
ด้านจารุกาญจน์ ราษฎร์ศิริ ผู้อำนวยการและผู้ประสานงานกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และการขนส่ง GIZ กล่าวว่า การประชาสัมพันธ์ฉลากเขียว ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่1 ของประเทศไทยซึ่งเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและบ่งบอกให้ผู้บริโภคทราบถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์
“เราต้องการให้ประชาชนได้รับความรู้ในการเลือกใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นโยบายความยั่งยืนไม่ใช่เป็นเพียงแค่กระแส แต่เป็นการสร้างให้เห็นว่าทุกคนมีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกัน”
สำหรับกิจกรรม ครั้งนี้ มีภาคเอกชน บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน), บริษัท คิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค ประเทศไทย จำกัด และ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน), บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เซลล๊อกซ์ จำกัด เดินหน้าส่งเสริมด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนผ่านการร่วมสนับสนุนกิจกรรม
ทั้งนี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการดำเนินงานฉลากเขียว ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายและบริหารฉลากเขียว ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ องค์กรสื่อและผู้บริโภค โดยมีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเป็นฝ่ายเลขานุการ มีภารกิจสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. การพัฒนาข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการประเภทต่างๆ 2. การให้การรับรองฉลากเขียวกับผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าและบริการที่คำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ 3. การประสานความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม #ฉลากเขียว #ฉลากสิ่งแวดล้อม