เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่บ้านนาหนองบง หมู่ 3 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย ได้จัดงาน ปลูกป่าฟื้นฟูภูเขาคืนมา ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 26-27 ก.ค. 2567 นี้
โดยน.ส.จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า หลังจากที่เหมืองแร่ทองคำได้ปิดไปแล้วอย่างถาวร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการฟื้นฟูพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการทำเหมืองแร่ทองคำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดทำแผนฟื้นฟูภาคประชาชนโดยมีใจความสำคัญคือต้องฟื้นฟูทั้งภายในและภายนอกเหมือง โดยเฉพาะการพฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกย่ำยีจากการปล่อยผลกระทบและเหตุการณ์วันที่ 15 พ.ค.2557 ที่มีกลุ่มชายฉกรรจ์จากเหมืองเข้ามาทุบตีทำร้ายชาวบ้านในพื้นที่ การจัดงานในครั้งนี้เป็นการเดินหน้าฟื้นฟูโดยภาคประชาชน ซึ่งเป็นการทำไปก่อนในส่วนที่พวกเราทำได้เพราะในส่วนของการฟื้นฟูผลกระทบในด้านอื่น เช่น เรื่องของสารพิษ สารโลหะหนักในพื้นที่่ ก็เป็นเรื่องที่ยากและชาวบ้านยังคงต้องต่อสู้เพื่อให้มีการฟื้นฟูโดยที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ตามคำพิพากษาของศาล
น.ส. รจนา กองแสน ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ กล่าวว่า หลังจากที่เราต่อสู้กันมา 18 ปีแล้ว เราก็พิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นแล้วว่าเหมืองทองคำสร้างผลกระทบให้พวกเราได้มากมายขนาดไหน พวกเราเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะบ้านของพวกเราอยู่รอบเหมือง ภูเขาที่ใช้ระเบิดทำเหมืองอยู่ตรงกลางของหมู่บ้าน เราต้องใช้น้ำดื่มน้ำกินจากภูเขาแห่งนี้ การทำเหมืองทำให้พวกเราเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะกระบวนการในการทำเหมืองทำให้เกิดสารพิษที่ไหลปนเปื้อนมากับน้ำ เมื่อมีหน่วยงานสาธารณสุขมาสุ่มตรวจเลือดของพี่น้องเราก็พบว่าทุกคนมีสารไซยาไนด์และสารหนูและมีสารโลหะหนัก เช่น สารหนู แมงกานีส อยู่ในเลือดเกินมาตรฐานทุกคน ซึ่งสารโลหะหนักจากเหมืองทำให้พี่น้องหลายคนในหมู่บ้านเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงและโรคมะเร็ง โดยเป็นการสุ่มตรวจ แต่กระบวนการของเราต้องการให้มีการตรวจเลือดประชาชนใน 6 หมู่บ้านฯ ทุกคน เพื่อหาสารโลหะหนักจะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที แต่ปัญหาคือหน่วยงานรัฐบอกว่าไม่มีงบประมาณ
น.ส.รจนา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เราต่อสู้จนนำมาสู่การปิดเหมืองได้สำเร็จ ด้วยพลังกายพลังใจของพ่อ ๆ แม่ ๆ ทุกคน ซึ่งตอนนี้เราได้ฟ้องเขาเรื่องคดีฟื้นฟูตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและ รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เราก็ชนะ ซึ่งคำพิพากษาของศาลได้ระบุว่า ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนและแผนการฟื้นฟูทุกขั้นตอน ได้ค่าเยียวยาครอบครัวละ 104,000 บาท แต่ไม่มีใครได้เงินชดเชยเยียวยาแม้แต่ครอบครัวเดียว เพราะหลังจากการฟ้องร้องบริษัทเหมืองก็ใช้วิธีการล้มละลายเพื่อหนีการที่จะต้องจ่ายเงินเยียวยา และไม่ต้องการฟื้นฟูปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ และการฟื้นฟูใช้เงินจำนวนมาก
น.ส.รจนา กล่าวต่อว่า ขณะนี้เราอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการฟื้นฟู ซึ่งในครั้งแรกนั้นคณะกรรมการที่จะทำการฟื้นฟูของรัฐไม่มีรายชื่อของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเลย แต่พวกเราก็ได้ไปต่อสู้จนสามารถได้เข้าร่วมในคณะกรรมการฟื้นฟูครึ่งหนึ่ง ซึ่งเราก็พยายามผลักดันเรื่องการฟื้นฟูที่คิดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และจะต้องฟื้นฟูระบบนิเวศ วัฒนธรรม กลับคืนมาให้ได้ ซึ่งกระบวนการฟื้นฟูของรัฐทำได้ยาก แต่เราจะสู้ไปก่อน เราจะไม่รอรัฐ ต่อไปนี้จะเป็นกระบวนการฟื้นฟูของภาคประชาชน ซึ่งการจัดงานปลูกป่าฟื้นฟูภูเขาคืนมาเป็นการประกาศถึงแนวทางการต่อสู้ของพวกเราภาคประชาชน โดยต้นไม้ที่พวกเรานำมาปลูกเป็นต้นไม้ที่แม่ ๆ แต่ละบ้านช่วยกันเพาะกล้าไม้ เป็นต้นกล้าไม้ที่หายไปจากการทำเหมืองทอง โดยต้นไม้ต้นไหนที่แม่ ๆ อยากให้กลับคืนมา เขาก็นำกล้าไม้เหล่านั้นมาเพาะไว้เพื่อนำมาปลูกในครั้งนี้ โดยทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคืออยากให้ภูเขากลับมาเขียวขจี ให้มีต้นไม้เต็มภูเขา เราอยากให้วิถีเหล่านั้นกลับคืนมา
ขณะที่บรรยากาศภายในงานเริ่มต้นด้วยกิจกรรมทัวร์เหมือง Dark Tour เหมืองปิดแต่สารพิษยังคงปนเปื้อน EP1 โดยตัวแทนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้นำผู้เข้าร่วมงานกว่าร้อยคนชมผลกระทบและเศษซากจากเหมืองร้างเพราะถึงแม้เหมืองได้ยุติการดำเนินกิจการไปแล้วแต่ผลกระทบและสารเคมีที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองยังคงอยู่ กิจกรรมเรื่องเล่าการปลูกเมล็ดพันธ์แห่งการต่อสู้ ซึ่งเป็นกิจกรรมบอกเล่าประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองทองคำของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ฯ และกิจกรรมปลูกต้นไม้เพื่อพื้นฟูพื้นที่ด้วย สำหรับขั้นต่อไปในการต่อสู้ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ฯ คือการผลักดันแผนฟื้นฟูภาคประชาชนให้มีการบังคับใช้ เพราะในขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ต้องการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการฟื้นฟู แม้ขณะนี้จะมีคณะทำงานร่างแผนฟื้นฟูร่วมกัน แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ในขณะในพื้นที่ก็ยังคงตรวจพบสารโลหะหนักเกินค่ามาตรฐานจำนวนมาก.