“พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” พระมหากษัตริย์ “รัชกาลที่ 10 แห่งราชจักรีวงศ์” พระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นับแต่ครั้งทรงพระเยาว์ ทรงสนพระทัยใฝ่ศึกษาสรรพวิชา ทรงมุ่งมั่นศึกษาวิชาการทหาร เพื่อสืบสานพระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี เพื่อความผาสุกของประเทศและปวงไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้น…

‘ถวายราชสดุดี’ ๗๒ พรรษา เทิดองค์ราชา ‘ทรงพระเจริญ’ (๑)

ทั้งนี้ ข้อมูลในหนังสือเฉลิมพระเกียรติที่กองทัพบกจัดพิมพ์ เนื่องในงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พันตรี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 บางช่วงบางตอนและโดยสังเขปมีว่า… สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ เริ่มทรงพระอักษรชั้นอนุบาล 1 เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2499 ทรงเป็นนักเรียนจิตรลดารุ่นที่ 2 เลขประจำพระองค์คือ 9 ซึ่งทรงเรียนดี จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไป ทรงศึกษาต่อที่อังกฤษ เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2509 โดยทรงศึกษาระดับประถมอีกครั้งที่ โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ด ซึ่งขณะทรงศึกษาที่อังกฤษ ทรงใช้พระนามว่า “มิสเตอร์ วี. มหิดล (V. MAHIDOL)” และทรงปฏิบัติพระองค์เช่นเดียวกับนักเรียนคนอื่นทุกประการ

ต่อมาทรงศึกษาต่อระดับมัธยมที่ โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตรีท และในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2513 ทรงสำเร็จการศึกษาก่อนกำหนด 6 เดือน โดย พันเอก ธอมัส ฮอล พระอภิบาลระหว่างที่ทรงศึกษาที่อังกฤษ ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไว้ว่า ทรงอยู่ในกรอบที่ดีงาม ทรงมีพระวิริยอุตสาหะในการศึกษาอย่างสูงยิ่ง และด้านดนตรีพระองค์ก็ทรงสนพระทัย อย่างไรก็ดี ทรงสนพระทัยในด้านวิชาการทหาร กิจการด้านการทหาร เป็นอย่างมาก ทรงแน่วแน่ในการที่จะทรงศึกษาต่อด้านนี้ ทั้งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เสด็จฯ ไป ทรงศึกษาต่อด้านการทหารที่ออสเตรเลีย ทรงเข้าศึกษาที่ คิงส์สกูล นครซิดนีย์ เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นโรงเรียนคล้ายโรงเรียนเตรียมทหาร จากนั้นทรงศึกษาต่อที่ วิทยาลัยวิชาการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2515 โดยทรงตั้งพระทัยที่จะสอบเข้าให้ได้ แม้รัฐบาลออสเตรเลียได้ถวายสิทธิ แต่ไม่ต้องพระประสงค์ที่จะได้สิทธิพิเศษ

ระหว่างทรงศึกษาที่ดันทรูน ทรงใช้พระนามภาษาอังกฤษว่า “STAFF CADET V MAHIDOL” ทั้งนี้ หลักสูตรของดันทรูนนั้น มี 2 ส่วน คือ วิชาการทหาร และวิชาสามัญระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ผู้ผ่านหลักสูตรจะได้รับปริญญาตรีตามสาขาวิชาที่เลือกด้วย โดยพระองค์ทรงเลือกสาขาอักษรศาสตร์ เมื่อทรงสำเร็จการศึกษา ทรงได้รับการถวายปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ และสัญญาบัตร วิทยาลัยวิชาการทหารดันทรูน ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ไปทรงร่วมในพิธีรับการถวายสัญญาบัตร และทรงประดับอินทรธนูยศ “ร้อยเอก” แก่พระองค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน โดยเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ ยังความปลื้มปีติแก่ประชาชนคนไทยเป็นล้นพ้น

หลังทรงสำเร็จการศึกษา ทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารประจำกรมข่าวทหารบก และในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2519 ได้เสด็จฯ ไป ทรงร่วมพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล ณ ลานพระราชวังดุสิต อันนำมาซึ่งความปลาบปลื้มสู่ทหารไทยทุกเหล่าทัพ ด้วยเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์กองทัพไทย และในปี พ.ศ. 2519 พระองค์ได้เสด็จฯ ไปทรงศึกษาวิชาทหารเพิ่มที่ออสเตรเลียอีก ทรงฝึกเพิ่มเติมหลักสูตรพิเศษ ได้แก่ หลักสูตรกระโดดร่ม หลักสูตรทบทวนวิชาอาวุธและยุทธวิธีระดับผู้บังคับกองร้อย หลักสูตรการรบพิเศษ

ปี พ.ศ. 2520 เมื่อเสด็จฯ กลับไทย ทรงเข้าสอบแข่งขันคัดเลือกเป็นนายทหารนักเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ซึ่งทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสอบตามระเบียบทุกประการ และด้วยพระปรีชาสามารถ พระวิริยอุตสาหะ ทรงสอบได้เป็นลำดับที่ 9 ทรงเป็นนายทหารนักเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรประจำชุดที่ 56 หมายเลข 56001 ซึ่งระหว่างทรงศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการฯ ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนพระยศเป็น “พันตรี” โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานประดับยศ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2520

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาโรงเรียนเสนาธิการทหารบก โดยทรงสอบได้เป็นที่ 2 ทรงมีพระราชประสงค์จะประจำกรมกองทหาร แต่ด้วยในขณะนั้นทรงเป็น “องค์มกุฎราชกุมาร” แล้ว ทางกองทัพบกไม่อาจเปิดตำแหน่งให้ทรงเลือกเหมือนนายทหารนักเรียนอื่น จึงกราบบังคมทูลถวายตำแหน่งรองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ครั้นวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2521 ทรงได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรและเข็มเสนาธิปัตย์จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ อาคารใหม่สวนอัมพร ทั้งนี้ พระองค์นับเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรก ที่ทรงศึกษาและสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

ด้วยทรงแน่วแน่ในการศึกษาวิชาการทหารต่าง ๆ เมื่อทรงตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนี ที่เสด็จฯ ไปทรงให้แพทย์ถวายการตรวจพระอาการพระโรคภูมิแพ้ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2523 ในการนี้ ได้ ทรงศึกษาวิชาทหารเพิ่มเติมที่หน่วยรบพิเศษ ณ ฟอร์ทแบรก มลรัฐนอร์ทแคโรไลนา ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรการรบพิเศษ และอื่น ๆ ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้ ผู้ศึกษาต้องมีความอดทนเป็นพิเศษ ด้วยบางครั้งต้องฝึกหนักทั้งเวลากลางวันและกลางคืน แต่ก็ทรงตั้งพระทัยรับการฝึกเป็นอย่างดี ทรงรับการฝึกเหมือนกับทหารคนอื่น ๆ โดยตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์แรก ทรงฝึกร่วมกับทหารหน่วย GREEN BERETS ของสหรัฐ ซึ่งร้อยเอกเจมส์ เจ.เพน ผู้บังคับหน่วยอาวุธ พระอาจารย์ที่ฝึกสอน ได้กล่าวสดุดีพระปรีชาสามารถว่าทรงมีความอดทน และทรงสามารถฝึกใช้อาวุธแบบต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว 

นอกจากนี้ ทรงฝึกกระโดดร่ม โดยทรงฝึกทั้งบริเวณเขตปลอดภัยและเขตอันตราย และระยะ 5 สัปดาห์หลัง ทรงศึกษาวิชาการทหารด้านอื่น ๆ เช่น การรบนอกแบบ การรบแบบกองโจร การต่อต้านยุทธวิธีฝ่ายตรงข้าม ฯลฯ อีกทั้งครั้งเสด็จฯ ไปทรงศึกษาวิชาทหารที่สหรัฐ ทรงมีโอกาสฝึกบินร่วมกับหน่วยเฮลิคอปเตอร์กองทัพบกสหรัฐ และทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินปีกติดลำตัว และเครื่องบินแบบเอ-5 (รุ่นพิเศษ) ตามลำดับ โดยพระองค์ทรงสนพระทัยด้านการบิน และทรงศึกษาฝึกฝนจนเปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถยิ่ง

ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการสถาปนาพระองค์ขึ้นดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามาภิไธยตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า… “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฎราชกุมาร” ซึ่งพระองค์ ทรงเป็น “เจ้าฟ้านักการทหาร” และ “เจ้าฟ้านักบิน” ที่นานาอารยประเทศต่างถวายการยกย่อง

องค์มกุฎราชกุมารแห่งในหลวงรัชกาลที่ 9 พระผู้ทรงสืบสันตติวงศ์ทรงราชย์เป็น “ในหลวงรัชกาลที่ 10 แห่งราชจักรีวงศ์” ทรงเป็นองค์หลักชัยสำคัญยิ่ง สำหรับความมั่นคงของประเทศไทยและปวงไทย…

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน