สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ว่า ธนาคารกลางรัสเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 18 ถือเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 6 ในรอบกว่า 1 ปี เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น

ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่กองทัพรัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารในยูเครน เมื่อเดือน ก.พ. 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายจำนวนมหาศาลของรัฐบาล และค่าจ้างที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ทั่วทั้งกลไกเศรษฐกิจปรับตัวสูงขึ้น “อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและสูงกว่าที่ธนาคารกลางรัสเซียเคยคาดการณ์ เมื่อเดือน เม.ย. อย่างมาก” แถลงการณ์ระบุ

“การเติบโตของอุปสงค์ในประเทศยังคงสูง เกินกว่าความสามารถในการขยายของอุปทาน เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงอีกครั้ง จึงจำเป็นต้องมีนโยบายการเงินที่เข้มงวด” ธนาคารระบุเพิ่มเติม นอกจากนั้น ธนาคารยังปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับปี 2567 เป็นร้อยละ 6.5-7

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เปิดเผยว่า รัสเซียเตรียมใช้งบประมาณด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคงเกือบร้อยละ 9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต เหตุรัสเซียต้องเร่งผลิตอาวุธเพื่อใช้กับการสู้รบในยูเครน

การใช้จ่ายภาครัฐที่พุ่งสูงขึ้น และการขาดแคลนแรงงานในหลายภาคส่วน ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งรัสเซียไม่สามารถกำจัดออกไปได้ งบประมาณของรัฐบาลกลางของมอสโก พุ่งสูงขึ้นเกือบร้อยละ 50 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จาก 24.8 ล้านล้านรูเบิล (ราว 10.3 ล้านล้านบาท) ในปี 2564 เป็น 36.6 ล้านล้านรูเบิล (ราว 15.2 ล้านล้านบาท) ที่วางแผนไว้ในปีนี้

เนื่องจากภาครัฐต้องใช้จ่ายจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น นักวิเคราะห์จึงกลัวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ใช่เครื่องมือในการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่ราคาผู้บริโภคเป็นหัวข้อที่อ่อนไหวในรัสเซีย เนื่องจากประชาชนจำนวนมากไม่มีเงินออม และยังจำภาวะเงินเฟ้อรุนแรง และความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในอดีตได้ดี

ทั้งนี้ รัฐบาลมอสโกระบุว่า พวกเขามีความกังวลเกี่ยวกับระดับเงินเฟ้อที่สูง และจะมีการนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหา.

เครดิตภาพ : AFP