การดื่มกาแฟหนึ่งแก้ว อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย ทว่าเบื้องหลังกาแฟทุกแก้วนั้น มีเรื่องราวและความพยายามของผู้คนมากมายซ่อนอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ดังนั้น ‘กาแฟ’ จึงไม่เพียงแต่เป็นเครื่องดื่มที่สร้างความกระปรี้กระเปร่าสำหรับเตรียมความพร้อมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เท่านั้น ภายใต้ความหอมกรุ่นและรสสัมผัสอันกลมกล่อมยังสะท้อนถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต และเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยห่วงโซ่จากต้นน้ำถึงปลายน้ำของกาแฟแต่ละแก้ว ส่งผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อม ชุมชน และเศรษฐกิจในวงกว้าง

แม้ว่าตลาดกาแฟในประเทศไทยจะเติบโตขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวงการกาแฟไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งการแข่งขันในแง่ของธุรกิจ พฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับผลผลิตเมล็ดกาแฟในระดับประเทศและระดับโลกที่มีปริมาณลดลง เนื่องจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ดินเสื่อมโทรม พื้นที่เกษตรกรรมที่เหมาะสำหรับการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์จึงลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ของพื้นที่เดิม โดยมีการคาดการณ์ว่า ผลผลิตเมล็ดกาแฟทั่วโลกอาจลดลงถึง 50% ภายในปี พ.ศ. 2593 ดังนั้นการขับเคลื่อนวงจรการผลิตกาแฟให้มีความยั่งยืนจากต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำ จึงถือเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะต้องเดินหน้าลงมืออย่างจริงจัง

ดังที่ ‘เนสกาแฟ’ (NESCAFÉ) ในฐานะผู้นำตลาดด้านธุรกิจกาแฟ จากบริษัท ‘เนสท์เล่’ (Nestlé) ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในโลก ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวและเล็งเห็นโอกาสใหม่ ๆ ภายใต้ความท้าทายที่เกิดขึ้น จึงเดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมกาแฟไทยให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมให้มีการนำ ‘การเกษตรเชิงฟื้นฟู’ (Regenerative Agriculture) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำการเกษตร และนำมาใช้ในกระบวนการปลูกกาแฟ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยให้เกษตรกรในประเทศมีผลผลิตเมล็ดกาแฟคุณภาพสูงในระยะยาว ควบคู่ไปกับการยกระดับธุรกิจกาแฟให้มีความแข็งแกร่ง อันจะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น

สอดคล้องกับกลยุทธ์ ‘NES’ ของเนสกาแฟในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ที่จะมุ่งเน้นไปยัง 3 ด้านหลัก อันได้แก่ N: NESCAFÉ Brand การพัฒนาเนสกาแฟให้เป็นแบรนด์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่า E: Experience การมอบประสบการณ์การดื่มด่ำกาแฟ ผ่านนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ปรับสูตรใหม่ และ S: Sustainability การให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเป็นซึ่งหัวใจสำคัญของแบรนด์

“เราไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะด้านธุรกิจเท่านั้น เรายังคงให้ความสำคัญกับการนำความยั่งยืนมาเป็นหัวใจหลักของเนสกาแฟ ด้วยการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืนผ่านการเกษตรเชิงฟื้นฟู ภายใต้โครงการ ‘เนสกาแฟ แพลน 2030’ ซึ่งเป็นโครงการด้านความยั่งยืนระดับโลก เพื่อช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับวงการกาแฟของประเทศไทย ด้วยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เกษตรกร ตั้งแต่การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของเมล็ดกาแฟ ไปจนถึงการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนด้วยกาแฟทุกแก้ว” ‘โจโจ้ เดลา ครูซ’ ผู้อำนวยการบริหารธุรกิจผลิตภัณฑ์กาแฟและครีมเทียม บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าว

ที่ผ่านมา การขับเคลื่อน ‘การเกษตรเชิงฟื้นฟู’ ของเนสท์เล่ ได้มีการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้และสนับสนุนด้านเทคนิคในการทำสวนกาแฟอย่างยั่งยืน, การผนึกความร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ประจำประเทศไทย หรือ GIZ ในการจัดทำหลักสูตร Farmer Business School เพื่อฝึกอบรมเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟให้มีแนวคิดของผู้ประกอบการเกษตรกรรมไปแล้วถึง 2,000 ราย, การพัฒนาต้นกล้ากาแฟที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกในประเทศไทย พร้อมกระจายต้นกล้ากาแฟพันธุ์ดีให้แก่เกษตรกรไปแล้วกเกือบ 4 ล้านต้น ตลอดจนการให้การสนับสนุนโครงการประกวดสุดยอดกาแฟไทย เพื่อส่งเสริมการใช้การเกษตรเชิงฟื้นฟูในสวนกาแฟให้มากขึ้น

“นอกเหนือจากการทำให้ผลิตภัณฑ์เนสกาแฟตรงกับความต้องการของผู้บริโภคแล้ว บทบาทสำคัญของเราอีกอย่างหนึ่งคือการสร้างความยั่งยืนให้กับห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำ ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรสวนกาแฟในประเทศไทยที่ทำงานร่วมกับเรา นำการเกษตรเชิงฟื้นฟูเข้ามาใช้ โดยมีนักวิชาการเกษตรดูแลอย่างใกล้ชิดมามากกว่า 40 ปี ซึ่งหลักการดังกล่าว นอกจากจะช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่ดีในระยะยาว มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นแล้ว ในขณะเดียวกัน เกษตรกรก็จะสามารถใช้ทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตให้มีความยั่งยืนได้อีกด้วย” ‘ทาธฤษ กุณาศล’ ผู้จัดการฝ่ายบริการการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวเสริม

สำหรับเมล็ดกาแฟทุกเม็ดที่เนสกาแฟจัดหาจากเกษตรกร ได้รับการรับรองมาตรฐาน 4C (Common Code for the Coffee Community) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากล ทั้งยังรับซื้อจากเกษตรกรโดยตรงในราคาที่เป็นธรรม โดยอ้างอิงจากราคากาแฟในตลาดโลก ประกอบกับการให้คำมั่นสัญญาว่า เนสกาแฟจะรับซื้อผลผลิตเมล็ดกาแฟที่มาจากกระบวนการผลิตด้วยเกษตรเชิงฟื้นฟูให้ได้ 20% ภายในปี 2025 และ 50% ภายในปี 2030

นอกจากนี้ ด้านเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจากจังหวัดชุมพร ที่ทำงานร่วมกับเนสกาแฟ อย่าง ‘สุดใจ คำยอด’ ยังได้เปิดเผยว่า จากการปลูกกาแฟมาราว 40 ปี เคยประสบปัญหาในเรื่องของผลิตที่ลดน้อยลงไม่ได้คุณภาพ จนกระทั่งเนสท์เล่ได้ส่งนักวิชาการเกษตรเข้ามาช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการปลูกกาแฟด้วยหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู ทำให้ผลผลิตในสวนกลับมาดีขึ้นได้อีกครั้ง

“ถ้าไม่มีเนสท์เล่ในวันนั้น ตอนนี้ชุมพรอาจไม่มีกาแฟเหลือแล้ว เดี๋ยวนี้โลกร้อนขึ้นด้วย อากาศร้อนมาก แล้งด้วย น้ำไม่พอใช้ กาแฟได้น้ำไม่พอ ทำให้สัดส่วนผลผลิตที่จะได้เพิ่มขึ้นมีปริมาณลดลง แต่สวนของเราใช้แนวทางของเนสท์เล่ ก็ได้รับผลกระทบน้อยกว่าคนอื่นๆ เรียกได้ว่าเนสท์เล่ได้เข้ามามีส่วนช่วยทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืน จึงอยากเชิญชวนเกษตรกรให้หันมาใช้หลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูเพื่อผลผลิตที่ดีอย่างยั่งยืน” ‘สุดใจ’ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ เนสท์เล่ตั้งเป้าหมายในการลดคาร์บอนสุทธิจนเหลือศูนย์ ภายในปี 2050 โดยมีเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 20% ภายในปี 2025 และลดลง 50% ภายในปี 2030 ถือเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ของเนสท์เล่ให้เห็นว่า นอกจากความมุ่งมั่นในการส่งมอบกาแฟคุณภาพให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ยังแสดงออกถึงการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างเต็มกำลังอีกด้วย