นายสุพริศร์ สุวรรณิก นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยบทวิจัยโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทย ความเปราะบางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ว่า ประเทศไทยต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนเดิมใน 5 ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย และอีก 1 ความเปราะบางทางสังคม คือ เศรษฐกิจไทยเปราะบางต่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการพึ่งพาต่างประเทศในระดับสูง เช่น ไทยพึ่งพิงจีนและสหรัฐอเมริกาทั้งการส่งออกที่มูลค่ารวมกันเกือบ 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด การท่องเที่ยวที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนสูงถึง 28% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด

นอกจากนี้ หากปรับตัวไม่ทัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่อาจทำให้ไทยตกขบวนรถไฟได้ เช่น ความเปราะบางของโครงสร้างการส่งออกไทย ที่พบว่ามีมูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้อยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลางและขั้นสูง ชี้ให้เห็นว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติมายังธุรกิจไทยยังมีไม่สูงนัก ขณะที่ภาวะโลกร้อนจะส่งผลใหญ่หลวงต่อไทยหากไม่เร่งปรับตัว โดยมากกว่า 1 ใน 3 ของแรงงานนอกภาคเกษตรทั้งประเทศ มากกว่า 20% ของจำนวนสถานประกอบการ และมากกว่า 10% ของธุรกิจในอุตสาหกรรมส่งออกหลัก

ขณะเดียวกัน การเข้าสู่สังคมสูงอายุส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลายด้าน โดยหากมองความเปราะบางของโครงสร้างแรงงานไทย พบว่ามีสัดส่วนแรงงานสูงวัยมากกว่า 50 ปี เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าในช่วงไม่ถึง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มจาก 3.4% ในปี 45 มาสูงถึง 9.9% ในปี 62 และ วิกฤติโควิด-19 ได้สร้างหลายแผลเป็นต่อเศรษฐกิจไทย คือ ความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่าครัวเรือนไทยเริ่มผิดนัดชำระหนี้ และมีหนี้เสียเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้กู้อายุน้อย ซึ่งมีหนี้เร็วและมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียมากอยู่แล้วก่อนเกิดวิกฤติ ส่วนด้านสังคมปัญหาสังคมไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และอาจเป็นอุปสรรค ทำให้หลายภาคส่วนร่วมมือกันเพื่อแก้ไขความเปราะบางทางเศรษฐกิจได้อย่างลุล่วง

น.ส.ธนิสา ทวิชศรี นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า ได้ทำการสำรวจออนไลน์พบว่าความสมานฉันท์ในสังคมไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับคุณภาพสังคมด้านอื่น ๆ คนรุ่นใหม่มีค่านิยมค่อนไปทางเสรีนิยมมากกว่าคนรุ่นเก่า และความคิดต่างของคนในสังคมอาจนำไปสู่ความแตกแยกทางสังคมได้ เพราะกลุ่มที่คิดต่างมักมีความรู้สึกไม่ดีต่อคนต่างความคิด และมองความต่างระหว่างสองกลุ่มมากเกินกว่าความเป็นจริง โดยการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนที่คิดต่าง อาจช่วยลดความแตกแยกได้ และรัฐควรจัดเก็บภาษีให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาบริการขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพสูง คะแนนเสียงของทุกคนควรมีค่าเท่ากันในการเลือกตั้ง เป็นต้น

“ความเปราะบางของสังคมไทย หากไม่แก้ไข ก็อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความเปราะบางทางเศรษฐกิจ นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น ดังนั้น เปิดใจ ที่จะมองเห็นเข้าใจมุมมองคนคิดต่าง รับฟัง คนรอบข้าง คนคิดต่าง รับข้อมูลหลากหลาย พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และ ร่วมมือ แก้ไขปัญหาด้วยกันระหว่างหลายภาคส่วน เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในสังคมไทย ซึ่งจะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาความเปราะบางของประเทศอย่างตรงจุด ทันเวลา และนำมาสู่สังคมไทยที่มีการพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน”