เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 67 รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ตอนนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาปลาหมอคางดำแพร่ระบาดในแหล่งน้ำพื้นที่ต่างๆ เป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ทั้งพื้นที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง รวมถึงพื้นที่แม่น้ำ ลำคลอง ปากแม่น้ำต่างๆ ตั้งแต่แถบจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ คืบคลานลงใต้มาเรื่อยๆ จนถึงจังหวัดสงขลา เหมือนกองทัพปีศาจที่คืบคลานแบบไม่สิ้นสุด และหากเรายังนิ่งนอนใจ คาดว่าปลาหมอคางดำจะยึดเต็มพื้นที่แม่น้ำในประเทศไทย สร้างความเสียหายให้กับภาคการเกษตร ภาคเศรษฐกิจ ระบบนิเวศ และทรัพยากรอย่างมหาศาล

ใช่ไหม? ‘หมอคางดำยักษ์’ หนัก 8 ขีด ไซซ์เท่าปลานิลเหมือนจนแยกไม่ออก

“ปลาหมอคางดำ ยังมีสัญชาตญาณดิบของสัตว์ป่าที่เป็นนักล่า ปรับสภาพอยู่ได้ในทุกสภาพน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำเน่า แพร่พันธุ์เร็วมาก เกิดง่ายตายยาก ได้รุกคืบแย่งชิงพื้นที่ปลาท้องถิ่นด้วยพฤติกรรมการรวมฝูงเมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้น การรุกรานก็เริ่มจากการกิน กินทุกอย่าง กินทั้งวัน ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ก็กินอาหารของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ เมื่อกินแล้วก็สร้างอาณาจักรปิดกั้นการเข้ามาของปลาชนิดอื่น ทำให้ปลาอื่นต้องถอยร่นออกไปจากพื้นที่ แล้วมันก็ยังรุกต่อไป จากชายฝั่ง ปากแม่น้ำ รุกเข้าปากคลอง รุกคืบลึกเข้าไปในแผ่นดิน จนปลาน้ำกร่อยไม่มีที่อยู่หนีหายไป ส่วนปลาน้ำจืดก็ต้องถอยลึกเข้าไปอีก ปลาหมอคางดำก็เพิ่มจำนวนประชากรเป็นทวีคูณจนเต็มพื้นที่ หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป เราจะไม่มีทรัพยากรทางน้ำของปลาหลงเหลืออยู่ หรือแม้แต่ปลาไทย ปลาท้องถิ่นก็จะสูญพันธุ์ในที่สุด ด้วยการเป็นปลานักล่าขนาดเล็กของปลาหมอคางดำ นอกจากการรวมกลุ่มกันเพื่อประสิทธิภาพของการล่า ยังสร้างตัวเองให้ดูใหญ่ เปลี่ยนสีสันให้เข้มข้นจนดูน่ากลัว เช่น สีน้ำเงินเข้ม ข่มขู่ปลาที่มีขนาดเล็กกว่า เพื่อสร้างความน่าเกรงขามและเพิ่มประสิทธิภาพการล่าได้มากขึ้น” รศ.ดร.อภินันท์ กล่าว

รศ.ดร.อภินันท์ กล่าวอีกว่า ดังนั้นในระยะเร่งด่วนนี้ จึงต้องเร่งกำจัดโดยใช้วิธีใดก็ได้ เช่น หว่านแห อวนรุน (มีข้อจำกัดทำได้เฉพาะกลางแม่น้ำ) หรือแม้กระทั่งไฟฟ้าช็อต (แต่ต้องให้กรมประมงอนุญาต) ต้องเอาออกจากพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ทำทุกวิถีทางที่จะนำปลาหมอคางดำไปใช้ประโยชน์ และที่สำคัญต้องเพิ่มจำนวนปลานักล่าในธรรมชาติให้เยอะๆ ให้เพียงพอกับการลงล่าเหยื่อ โดยบริเวณปากแม่น้ำ น้ำกร่อย ให้เพิ่มจำพวกปลากดทะเล ปลาริวกิว ปลาเก๋า ปลากดหัวผาน ปลาดุกทะเล ปลากะพง เป็นต้น ส่วนในแม่น้ำลำคลองที่เป็นน้ำจืด เพิ่มกลุ่มปลาชะโด ปลาช่อน ปลาหมอ เป็นต้น แต่ควรเป็นปลาในระยะตัวเต็มวัย ที่สามารถหากินเองได้แล้ว เพราะปลานักล่าธรรมชาติเหล่านี้ สามารถหากินไข่ปลา ลูกปลา และกล้าบุกเข้าหากินปลาที่มีพฤติกรรมรวมฝูงของปลาหมอคางดำได้ ช่วยให้ธรรมชาติปรับสมดุลธรรมชาติตามที่ควรจะเป็น และเมื่อสามารถจัดการปลาหมอคางดำไปหมดแล้ว ก็ยังคงเหลือจำนวนปลาไทยนักล่าในแหล่งน้ำ หากเป็นปลาใหญ่ก็เป็นหน้าที่ของพวกเราช่วยกันกินและนำมาใช้ประโยชน์ ประกอบกับพวกเขาวางไข่แค่ปีละครั้ง ก็ทำให้ประชากรถูกควบคุมโดยอัตโนมัติที่สัมพันธ์กับปลาไทยเหยื่อ เป็นโครงสร้างประชากรของปลาที่เหมาะสมในแต่ละลุ่มน้ำ แต่ละช่วงของแม่น้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธรรมชาติควบคุมกันมาหลายล้านปีจนสามารถดูแลกันเองได้ อยู่ในระบบนิเวศที่เหมาะ ปลาท้องถิ่นก็จะกลับมา

“สำหรับเกษตรกรที่กำลังประสบปัญหา ในช่วงแรกอาจจำเป็นต้องเพิ่มต้นทุนในการทรีตน้ำเตรียมบ่อ ฆ่าเชื้อ โดยใช้ด่างทับทิม กากชา (กำจัดได้เฉพาะตัวโต ส่วนตัวเล็กอดทนมากกว่า) คลอรีน ฟอร์มาลิน เพิ่มระบบกรองน้ำด้วยผ้า เพื่อให้มั่นใจที่สุดว่าจะไม่มีการเล็ดลอดของไข่ปลาหมอคางดำ” รศ.ดร.อภินันท์ กล่าวและว่า เพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมทางน้ำกันอย่างจริงจัง มีทั้งทำลายต้นน้ำลำธาร เปลี่ยนทางน้ำ สร้างสิ่งกีดขวาง ขยะ น้ำเสีย มลพิษ พลาสติก ปล่อยสัตว์น้ำที่ไม่ควรปล่อยลงแหล่งน้ำ ทำให้สูญเสียระบบนิเวศ ปลาท้องถิ่นตามธรรมชาติลดจำนวนลง วันนี้น่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาให้ความสำคัญ ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องมาตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อมต้องมาร่วมมือกันบริหารจัดการเชิงระบบ สร้างความตระหนักในทรัพยากร ใช้วิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสในการร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

รศ.ดร.อภินันท์ กล่าวว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มีโครงการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิต ความมั่นคงทางอาหารและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาระบบนิเวศทางน้ำลุ่มน้ำยม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ หวงแหน ใช้ประโยชน์ สร้างคุณค่าปลาไทยในท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายว่าจะขยายผลโครงการให้ครอบคลุมทุกลุ่มน้ำในประเทศไทย เพราะเมื่อปลาไทยเจ้าถิ่นมีจำนวนมากพอ ก็เป็นเหมือนด่านหน้าที่จะป้องกันสกัดกั้นไม่ให้ปลาต่างถิ่นรุกล้ำเข้ามาจนเกิดปัญหาเหมือนเช่นปลาหมอคางดำในตอนนี้