เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 67 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายพิเชษฐ์  เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ มีการพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา 2 ญัตติ คือ 1.ญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วนการระบาดปลาหมอคางดำ 17 จังหวัด เพื่อส่งให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการ โดยนายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส. สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ 2.ญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำและการจัดการสายพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน เพื่อส่งให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการ โดยนายพิทักษ์เดช เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์  ขณะที่นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ แต่นายณัฐชา ลุกขึ้นขอถอนญัตติด่วนการเสนอกรรมาธิการวิสามัญ เปลี่ยนเป็นเสนอความเห็นต่อรัฐบาลเพื่อให้แก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน

นายณัฐพงษ์ อภิปราย เตือนรัฐบาลจากที่เคยได้ย้ำมาเสมอว่าเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติและเป็นวาระเร่งด่วน แต่มีความล่าช้า จึงไม่รู้ว่าจะเป็นวาระแห่งชาติ ในชาตินี้หรือชาติหน้า โดยเฉพาะที่รัฐบาลระบุว่าจะใช้งบกลางมาแก้ไขปัญหาแต่ยังไม่มีการดำเนินการ ชี้ว่าการหาผู้ที่รับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญจำเป็น แม้กฎหมายจะเอาผิดไม่ได้แต่บริบทแวดล้อมที่เกิดขึ้นเชื่อว่าสังคมรู้ว่ามีสาเหตุจากอะไร ขณะนี้ระบาดในพื้นที่ 17 จังหวัดแล้ว จึงห่วงว่าจะขยายวงกว้างขึ้นไปทั่วประเทศ 70 จังหวัด และกล่าวย้ำถึงผลกระทบของประชาชนที่ประสบปัญหาการระบาดปลาหมอคางดำ โดยเฉพาะชาวประมงเลี้ยงวังกุ้ง วังปู ถูกปลาหมอคางดำกินเรียบ พร้อมเสนอให้ทบทวนเงื่อนไขการอนุญาตนำพันธุ์ปลามาศึกษาวิจัยในราชอาณาจักรไทย และยังเสนอให้จำกัดพื้นที่การขยายพันธุ์ ศึกษาวิจัยว่าจะต้องศึกษาอย่างไร พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องมีช่องโหว่อย่างไรและการเยียวยาในมิติต่างๆ และจับตาเอเลี่ยนสปีชีส์จะส่งผลกระทบอย่างปลาหมอคางดำหรือไม่ เสนอแนะให้ศึกษาโมเดลของต่างประเทศในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดเอเลี่ยนสปีชีส์ว่าทำอย่างไร ยังย้ำว่าการรับซื้อปลาไม่ใช่การเยียวยา เพราะคนละเรื่องกับการชดเชย รวมถึงการเอาผิดที่ต้องเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงว่าใครเป็นผู้กระทำผิด เป็นต้นกำเนิดของปัญหา และเสนอให้จับตาเอเลี่ยนสปีชีส์สายพันธุ์อื่นที่อาจจะขยายพันธุ์ในพื้นที่ในประเทศ โดยหวังว่าปัญหานี้จะถูกแก้ไขในสมัยนี้ หลังจากที่ผ่านมาแล้ว 8 อธิบดีกรมประมงทำหน้าที่และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 7 คน ตั้งแต่ปัญหานี้เกิดขึ้น

นายพิทักษ์เดช  อภิปรายเสนอญัตติว่า  อ้างอิงจากปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ชาวประมง ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยย้ำว่าจะต้องสืบเสาะหาสาเหตุการนำเข้าปลาดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยและมีการแพร่ระบาดได้อย่างไร และต้องหาแนวทางควบคุมการระบาด พร้อมหยิบยกการแก้ไขปัญหาในต่างประเทศใช้กระแสไฟฟ้าในการจัดการปัญหาเอเลี่ยนสปีชีส์ แต่ประเทศไทยติดขัดในข้อกฎหมาย ส่วนกรมประมงปล่อยปลากะพงขาวเพื่อจัดการปลาหมอคางดำอาจจะต้องใช้ระยะเวลา โดยย้ำว่าจะต้องเร่งยับยั้งการแพร่ระบาดเพราะหากมีการกระจายเข้าไปในแหล่งเพาะพันธ์ุสัตว์น้ำชายฝั่งที่เป็นแหล่งสร้างระบบนิเวศจะแก้ไขปัญหาได้ยาก จึงฝากรัฐบาลและกรมประมงหาวิธีการในการยับยั้งการระบาดโดยเร่งด่วน

“จะปกป้องทะเลสาบสงขลาได้หรือไม่จากปลาหมอคางดำ เขตลุ่มน้ำต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ตั้งแต่ภาคกลางจนถึงภาคใต้ เราจะปกป้องได้อย่างไร อย่าคิดว่า 17 จังหวัดเป็นจังหวัดส่วนน้อย เนื้อร้ายแม้จะเป็นเนื้อร้ายบางส่วน ถ้าลุกลามไปทั้งประเทศก็อาจก่อให้เกิดถึงชีวิตได้ สิ่งสำคัญที่จะต้องพูดคือแนะนำวิธีการเพื่อเสนอปัญหาแนวทางในการจัดการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำที่ลุกลามทั่วประเทศ” นายพิทักษ์เดช กล่าว

นายพิทักษ์เดช กล่าวว่า ตนคาดหวังว่ารัฐบาลจะหาข้อเท็จจริงในการนำเข้าปลาหมอคางดำ การควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดไปมากกว่านี้ และการแก้ไขข้อกฎหมายในการจัดการปลาหมอคางดำกับผู้ประกอบอาชีพประมง ชี้จะต้องเป็นวาระแห่งชาติเป็นเรื่องเร่งด่วนและแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

ส่วนนายณัฐชา อภิปราย ว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนแขวงแสมดำ ในปี 2566 จนตั้งกระทู้ถามทั่วไปในสภาเพื่อหาทางแก้ไขในเรื่องนี้ และรมว.เกษตรและสหกรณ์รับทราบถึงปัญหา รับเรื่องนำไปแก้ไข โดยในการตั้งกระทู้ถามครั้งแรกมีการระบาด 12 จังหวัดส่วนตั้งกระทู้ครั้งที่สองระบาด 14 จังหวัด จนการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีระบาด 16 จังหวัด จนถึงวันนี้ มีการระบาดแล้ว 17 จังหวัด จึงคาดหวังให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบถึงสาเหตุการระบาด จึงเป็นที่มาการตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาหาสาเหตุ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมประมงและหน่วยงานต่างๆ แต่เชิญบริษัทเอกชน 2 ครั้ง แต่ไม่ได้เข้าร่วมเพียงแต่ส่งหนังสือตอบคำถาม และอ้างถึงปัญหาการขอความร่วมมือภาคเอกชนมาชี้แจง ด้วยขอบเขตอำนาจของกรรมการมีจำกัด   แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปจากคณะอนุกรรมาธิการ ส่วนตัวขอสรุปว่านี่คือ “สถานการณ์ป่าเถื่อน” และนักวิชาการได้ยืนยันว่าเป็นการระบาดครั้งที่รุนแรงที่สุด จึงเสนอให้กับสภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมกันแก้ไข เพราะเป็นหนทางที่สามารถทำได้

นายณัฐชา   ยังได้อ้างถึงข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีว่าจะต้องตามหาต้นตอปัญหาให้ได้ สืบหาข้อเท็จจริงภายใน 7 วัน โดยมีการตั้งเมื่อวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งพรุ่งนี้จะครบ 7 วัน จึงถามถึงรัฐบาลว่ามีข้อมูลมากน้อยเพียงใดว่าใครคือต้นตอสาเหตุ ส่วนงบประมาณในการเยียวยาที่อธิบดีบอกว่าได้ขออนุมัติงบประมาณไว้ 171 ล้านบาท แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะได้รับอนุมัติหรือไม่ และมีงบจากการยางแห่งประเทศไทยอีก 50 ล้านบาท ซึ่งสามารถรับซื้อได้ 2.5 ล้านกก. แต่จังหวัดสมุทรสาครจังหวัดเดียวมีปลา 100,000 กิโลแล้ว หากไม่เร่งอนุมัติงบประมาณมาแก้ไขปัญหาชี้ว่าจะไม่ใช่เพียงปัญหาของประเทศไทยแต่จะยกระดับเป็นปัญหาในภูมิภาคอาเซียน จึงรอไม่ได้ในการแก้ไขปัญหานี้

“งบกลางต้องรีบอนุมัติลงมาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ในการเยียวยาช่วยเหลือ วันนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อย่างชัดเจนว่าจะสามารถประกาศเป็นเขตภัยพิบัติได้หรือไม่ ได้ยินแต่ข่าวว่ากรมประมงสอบถามกรมบัญชีกลางไปแล้ว แต่ผ่านเดือนครึ่งระยะเวลาที่รอหนังสือท่านประธานรู้หรือไม่ระบาดไปกี่ตัวแล้ว ระบาดไปกี่ล้านตันแล้ว เพราะฉะนั้นทุกวินาทีตอนนี้มีความหมาย” นายณัฐชา กล่าว

นายณัฐชา กล่าวอภิปราย เสนอแนะให้ประกาศเขตภัยพิบัติ หรือการชักธงแดง เพื่อให้ใช้อุปกรณ์ประมงทุกชนิดเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นสามารถชักธงเหลืองเพื่อปล่อยปลาสายพันธุ์นักล่าไปกินลูกปลาหมอคางดำ ต่อไปเป็นธงเขียว คือการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเพิ่มเติม และทบทวนหากระบาดอีกครั้งก็ให้ใช้ธงแดง แต่หากรัฐบาลไม่ใช้ธงใดเลย เสนอแนะให้รัฐบาลชักธงขาวยอมแพ้ยุบสภาไปเลย เพราะเรื่องนี้ช้าแค่วินาทีนาทีเดียวไม่ได้ และต้องเร่งประกาศเขตภัยพิบัติพร้อมกับเยียวยาเกษตรกร  ขณะเดียวกันเกษตรกรยังคงสงสัยเรื่องของปัญหาการแพร่ระบาดว่าเกิดจากข้อบกพร่องหรือความจงใจ โดยทิ้งท้ายว่าในขณะนี้สุดกำลังของฝ่ายนิติบัญญัติในการดำเนินการแล้วจึงต้องส่งต่อให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ที่ประชุมอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ก่อนมีมติส่งเรื่องให้รัฐบาลนำไปแก้ไขต่อไป.