เมื่อวันที่ 25 ก.ค. จากกรณีแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ซึ่งเป็นปลาที่อันตรายทำลายห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำแล้ว ยังแพร่ขยายพันธุ์รวดเร็วกว่า 16 จังหวัด ทำให้เกิดความหวาดวิตกทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน พยายามกำจัดให้สิ้นซากโดยเร็ว โดยล่าสุดพบในคลองสายหลัก อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ที่เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทย อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งขาวและสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งทุกภาคส่วนได้เร่งหามาตรการในการสกัดกั้นการแพร่กระจายไม่ให้ขยายออกเป็นวงกว้างไปมากกว่านี้

ด้าน นายศุภโชค เกื้ออรุณ ประมงอำเภอระโนด จ.สงขลา กล่าวว่า ขณะนี้ภาครัฐพยายามสร้างความตระหนักด้วยหลากหลายกิจกรรมเกี่ยวกับปลาหมอคางดำ เพื่อให้เกิดกับเกษตรกร และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ อำเภอระโนด ทั้ง 12 ตำบล ซึ่งได้แบ่งเป็นโซนสีแดงที่พบปลาหมอคางดำ ประกอบด้วยตำบลท่าบอน, คลองแดน, ระวะ, แดนสงวน, บ้านใหม่, ระโนด และปากแตระ ส่วนพื้นที่กันชนที่ต้องเฝ้าระวัง ประกอบด้วยตำบลตะเครียะ, พังยาง, บ้านตรุ, วัดสน และบ้านขาว

ขณะที่ นายสมใจ ศรีสงค์ นายก อบต.ระวะ กล่าวว่า ในพื้นที่ตำบลระวะ พบปลาหมอคางดำในคลองพังยาง-ระวะ ซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมต่อจากคลองอาทิตย์และทะเลอ่าวไทย ได้มีการจัดกิจกรรม Kick off จับปลาหมอคางดำในคลองสายพังยาง-ระวะ ไปแล้วเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และสามารถจับปลาหมอคางดำได้ประมาณ 114 กิโลกรัม พร้อมกับแนะนำให้แปรรูปเป็นอาหาร เช่น แกงส้ม ต้มส้มน้ำตาลโตนด และทอดเกลือ หรือการนำไปทำตากแห้งส่งจำหน่าย เพื่อช่วยกันทำให้ปลาหมอคางดำลดปริมาณลงให้ได้มากที่สุด

โดยในพื้นที่ตำบลระวะ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมขังทุกปี อีก 2 เดือนข้างหน้า จะเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำจะเอ่อล้นจากคลองแล้วอาจจะมีลูกปลาหรือไข่ปลาหมอคางดำแพร่กระจายเข้าสู่แหล่งน้ำในหมู่บ้าน รวมทั้งบ่อพักน้ำ และบ่อเลี้ยงกุ้งได้ และจะต้องเปิดปากคลองระวะ เพื่อระบายให้น้ำไหลออกทะเลอ่าวไทย ซึ่งอาจจะทำให้ปลาหมอคางดำบางส่วนเตรียมออกสู่ทะเลอ่าวไทย

ด้าน นายเจริญ โอมณี ประมงจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ขณะนี้ได้พบปลาหมอคางดำหนาแน่นเพิ่มขึ้นในคลองเป็ด ซึ่งอยู่ในโซนสีแดง และจะมีการจัดกิจกรรม Kick off ขึ้นในเร็วๆ นี้ เพื่อจับปลาหมอคางดำขึ้นมาให้ได้มากที่สุด และดำเนินกิจกรรมทำลายปลาหมอคางดำด้วยหลากหลายกิจกรรม

เช่น เชิญนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในจังหวัดสงขลา รวมทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม เกษตรกร ผู้นำท้องที่ และผู้นำท้องถิ่น เข้าร่วมสัมมนา เพื่อหาทางออกในการจัดการกับปลาหมอคางดำร่วมกัน โดยขณะนี้ได้รับงบสนับสนุนจาก กยท. เพื่อรับซื้อปลาหมอคางดำจากเกษตรกร ราคากิโลกรัมละ 15 บาท เพื่อมอบให้กรมพัฒนาที่ดินนำไปผลิตปุ๋ยส่งให้ กยท. เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรต่อไป

นอกจากนี้ยังจะมีการเร่งปล่อยปลากะพงนักล่าลงในคลองที่พบแพร่ระบาด และคลองกันชนต่างๆ ในพื้นที่ อำเภอระโนด และใกล้เคียง และห้ามเลี้ยงปลาหมอคางดำเป็นอันขาด หากพบมีผู้เลี้ยงปลาหมอคางดำ ก็จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

ก่อนที่จะถึงหน้ามรสุมประมาณเดือน ต.ค.-ธ.ค. นี้ ซึ่งจะมีปริมาณฝนตกชุก และทำให้เกิดน้ำหลากจากลำคลองเข้าไปในบ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา และแหล่งน้ำธรรมชาติแล้ว บางส่วนก็จะไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทยด้วย ซึ่งขณะนี้ได้ประสานไปยังชลประทานระโนด ให้มีการปิดปากคลองที่เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทยไว้ก่อน จนกว่ามีความจำเป็น จึงจะเปิดปากคลองอีกครั้ง.