เมื่อวันที่ 24 ก.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่1 เป็นประธานการประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.อำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ…. ซึ่งเสนอโดย นายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย และ ร่างพ.ร.บ.ที่มีเนื้อหาในทำนองเดียวกันอีก 2 ฉบับ ซึ่งเสนอโดยนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีราชื่อ พรรคก้าวไกล และ น.ส.ทิสรัตน์ เลาหพล สส.กทม. พรรคก้าวไกล 

ทั้งนี้ในการอภิปรายของ สส. ทั้งในส่วนของพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย มีความเห็นไปในทางเดียวกัน คือ สนับสนุนให้รับหลักการของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมีสาระเพื่อต้องการคืนอำนาจให้กับ กรรมาธิการ ในการทำงานตรวจสอบประเด็นความไม่โปร่งใสที่เกิดจากการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งจากฝ่ายบริหาร รัฐมนตรี และข้าราชการ หลังจากที่อำนาจเรียกบุคคลหรือเอกสารมาตรวจสอบในกมธ.จากข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐตามอำนาจที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2563 เมื่อวันที่ 7 ต.ค.63 มีคำวินิจฉัยว่ามีความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญปี2560 เนื่องจากกำหนดบทลงโทษทางอาญานั้นถือเป็นบทบัญญัติที่ขัดกับ มาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญ จึงทำให้เป็นปัญหาต่อการทำงาน เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ที่กรรมาธิการเชิญให้มาประชุมหรือชี้แจงรายละเอียด 

และหลังจากการอภิปรายแล้วเสร็จที่ประชุมได้ลงมติรวมกันในคราวเดียว โดยมีมติเอกฉันท์ 421 เสียง รับหลักการของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว และได้ตั้ง กมธ. 31 คนพิจารณาเนื้อหา.