ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊กสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ออกมาโพสต์สรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำภายในประเทศไทย โดยระบุว่า “สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 24 ก.ค. 67”

ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่
ภาคเหนือ : จ.กำแพงเพชร (74 มม.)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.สุรินทร์ (37 มม.)
ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร (48 มม.)
ภาคตะวันออก : จ.ปราจีนบุรี (82 มม.)
ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (65 มม.)
ภาคใต้ : จ.ชุมพร (78 มม.)

สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลาง ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และพายุดีเปรสชัน “พระพิรุณ” บริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว

คาดการณ์ : วันที่ 25 ก.ค. 67 ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่วนช่วงวันที่ 26-29 ก.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง

สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 51% ของความจุเก็บกัก (41,104 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 29% (16,941 ล้าน ลบ.ม.)

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : ประกาศ สทนช. ฉบับที่ 8/2567 ลงวันที่ 21 ก.ค. 67 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 24-31 ก.ค. 67
มีพื้นที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ดังนี้
ภาคเหนือ : จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก สุโขทัย พะเยา น่าน แพร่ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม และอุบลราชธานี
ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
ภาคตะวันออก : จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง และสตูล

เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็ก ที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณจังหวัด ดังนี้
– เชียงใหม่
– น่าน
– พะเยา
– พิษณุโลก
– สุโขทัย
– เพชรบูรณ์
– เลย
– บึงกาฬ
– สกลนคร
– อุดรธานี
– ชัยภูมิ
– กาฬสินธุ์
– ขอนแก่น
– มหาสารคาม
– นครพนม
– มุกดาหาร
– อุบลราชธานี
– ศรีสะเกษ
– สุรินทร์
– นครราชสีมา
– สระบุรี
– สุพรรณบุรี
– ปราจีนบุรี
– ตราด
– ระนอง

เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก ลำน้ำพอง ลำน้ำก่ำ แม่น้ำชี ลำเซบาย แม่น้ำยัง และแม่น้ำตราด

สถานการณ์น้ำ : เนื่องจากมีปริมาณน้ำสะสมไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ในอัตราที่เพิ่มขึ้น ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ยกตัวสูงขึ้นตามไปด้วย เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ กรมชลประทานจึงได้รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมปรับเพิ่มการระบายน้ำ ผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 700 ลบ.ม./วินาที และประสาน กฟผ. พิจารณาปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ร่วมกับปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยลดภาระการระบายน้ำในพื้นที่ตอนล่าง

ทั้งนี้จากปริมาณน้ำเหนือที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 700-800
ลบ.ม./วินาที คาดว่าจะทำให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) เพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน

สถานการณ์อุทกภัย : สถานการณ์น้ำท่วม วันที่ 23 ก.ค 67 ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่
– พิจิตร (อ.สากเหล็ก)
– พิษณุโลก (อ.เนินมะปราง และนครไทย)
– มหาสารคาม (อ.วาปีปทุม)
– ขอนแก่น (อ.มัญจาคีรี บ้านไผ่ บ้านแฮด บ้านภูผาม่าน ชุมแพ และหนองเรือ)
– ชัยภูมิ (อ.คอนสาร บ้านแท่น ภูเขียว และเกษตรสมบูรณ์)
– ร้อยเอ็ด (อ.ปทุมรัตต์ และเกษตรวิสัย)
– อุบลราชธานี (อ.เดชอุดม)
– จันทบุรี (อ.เมือง และท่าใหม่)
– ตราด (อ.เมือง)