เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 24 ก.ค. ที่โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นประธานเปิดการจัดกิจกรรม “ISAN Moving Green Forward ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา ชาวอีสาน” ซี่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้นโดยมีผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 4-7 เข้าร่วมจำนวนมาก

นางดวงดาว กล่าวว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมของไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงและความผันผวนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก ทำให้เกิดความผันผวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวไปข้างหน้าเพื่ออุตสาหกรรมที่ยั่งยืนผ่านกลไก 3 ด้าน  ทั้งในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Green Productivity, ด้านการพัฒนาการตลาด Green Marketing และด้านสินเชื่อ Green Finance ซึ่งในการกำหนดจัดกิจกรรมในภาคอีสานวันนี้ จะเน้นหนักในกระบวนการรับรู้ให้ภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการลดใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำผู้ประกอบการมาร่วมนำเสนอองค์ความรู้และประสบการณ์ในการต่อยอดธุรกิจยุคใหม่สู่สังคมคาร์บอนต่ำ มีการบริหารจัดการด้านอุตสาหกรรมสีเขียว รวมทั้งการอัปเดตเทรนด์ตลาด บรรจุภัณฑ์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามกระแสรักษ์โลกที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้

“ในปี 2567 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้กำหนดแผนโปรเจกต์กรีนที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเพิ่มรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรเชิงพื้นที่เพื่อสุขภาพและความงาม, การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากซูเปอร์ฟู้ด, การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเส้นใยชีวภาพ, การเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน, การพัฒนาผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล, การพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตพลังงานและเชื้อเพลิงจากชีวมวล และการสร้างความตระหนักและการพัฒนาองค์ความรู้ด้าน BCG ที่มุ่งสร้างการรับรู้และจูงใจให้ผู้ประกอบการในภาคอีสานให้เห็นถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจ พร้อมปรับตัวเองรองรับกับกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อนที่เป็นความท้าทายต่อภาคการผลิตของไทยในยุคปัจจุบัน”

นางดวงดาว กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ใช้นวัตกรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว และสังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมเชื่อมโยงสู่การขอมาตรฐานหรือฉลากสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าการยกระดับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคอีสาน 300 ราย ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 61.5 ล้านบาท ขณะที่ทั้งประเทศตั้งเป้าผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการรวมกว่า 1,800 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 1,350 ล้านบาท และนำร่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมทั่วทั้งประเทศ 7.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีตามเป้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด  อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมในภาคอีสานนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่องครั้งที่ 3 ต่อจากกรุงเทพฯ, เชียงใหม่ และครั้งสุดท้ายจะกำหนดจัดขึ้นที่นครศรีธรรมราช โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการทุกภูมิภาคในการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง