เมื่อวันที่ 23 ก.ค. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะโครงการ สพฐ.สัญจร รวมพลังแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากร 4 ภูมิภาค ที่ได้มีการลงพื้นที่สำรวจการแก้ไขปัญหาหนี้ครูในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการไกล่เกลี่ยหนี้ในระบบและนอกระบบ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการให้ความรู้ทักษะบริหารการจัดการเงิน ซึ่งภาพรวมของการขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อีกทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังได้ทวีตชื่นชมการทำงานของ ศธ. จากโครงการนี้ด้วย โดยระบุว่า ครูจำนวนมากชีวิตจมอยู่กับหนี้ และตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของรัฐบาล และกรมส่งเสริมสหกรณ์สัญจรไปแก้หนี้ครูทุกภาคทั่วประเทศ เพื่อทบทวนความเข้าใจการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยมีทั้งสถานีแก้หนี้ การไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาครูที่มีเงินดำรงชีพเหลือน้อยกว่า 30% รวมถึงกำลังถูกดำเนินคดี ซึ่ง ศธ.ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครู เพื่อให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้จากการดำเนินโครงการ สพฐ.สัญจรรวมพลังแก้หนี้ครูนั้นพบว่า มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูหลายแห่งทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงคือไม่เกินร้อยละ 5 หรือ 4.75  พร้อมกำชับสถานีแก้หนี้ครูของเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องหักเงินเดือนครูจากการชำระหนี้ให้ครูมีเงินเหลือใช้ในบัญชีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ตามระเบียบของ ศธ. เรื่องการชำระหนี้ของข้าราชการครู  สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ครูในอนาคตและขั้นตอนต่อไปนั้น เราวางแนวทางที่อาจจะให้ครูได้กู้เงินข้ามจังหวัดกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีอัตราดอกเบี้ยถูก เพราะต้องยอมรับว่าการบริหารจัดการอัตราดอกเบี้ยของแต่ละสหกรณ์มีความแตกต่างกัน โดยเขตพื้นที่จะต้องทำหน้าที่ดูแลสิทธิการกู้ของครูได้ เช่น ครูเคยกู้เงินที่สหกรณ์ออมทรัพย์ใดในอัตราดอกเบี้ยที่สูงก็สามารถเปลี่ยนมากู้กับสหกรณ์ที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าได้ ซึ่งการดำเนินการในรูปแบบนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันกันและปรับกลยุทธ์ในการปล่อยกู้  รวมถึงจะได้เลิกการผูกขาดกับสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง และตนเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อครูด้วย