นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. 67 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เตรียมจัดการเดินรถในเส้นทางตามแผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่องทั้งหมด 107 เส้นทาง ในส่วนการเดินรถเส้นทางเดิมนั้น ยังคงดำเนินการอยู่ ควบคู่ไปกับเส้นทางปฏิรูปที่มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการสะดวกมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน ขสมก. มีรถโดยสารทั้งหมด 2,884 คัน แบ่งเป็น รถธรรมดา (ครีมแดง) 1,520 คัน และรถปรับอากาศ (รถเมล์แอร์) 1,365 คัน ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ ขสมก. ไปดำเนินแผนจัดหารถใหม่ ภายใต้โครงการเช่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 

นางมนพร กล่าวต่อว่า ได้รับรายงานเบื้องต้นว่า สำหรับแผนการจัดหารถใหม่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงเพิ่มเติมในรายละเอียดโครงการเช่ารถโดยสาร EV ตามข้อสังเกตของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) ในรูปแบบการเช่ารถ พร้อมทั้งพิจารณาผลการคัดเลือก และเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณาด้านงบประมาณ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 67 จากนั้นคาดว่าจะสามารถเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก. พิจารณาอนุมัติการเช่ารถ และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการฯ ภายในเดือน ก.พ. 68 ก่อนจะลงนามสัญญาในเดือน มี.ค. 68 และทยอยรับรถในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. 68 

ปัจจุบัน ขสมก. มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยวันละประมาณ 650,000-700,000 คน-เที่ยว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในสิ้นปี 67 การให้บริการรถโดยสารสาธารณะของ ขสมก. ยังครองสัดส่วนเป็นอันดับ 1 ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ ขสมก. เร่งพัฒนาการให้บริการในทุกมิติ โดยการเพิ่มความถี่ในการปล่อยรถควรปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้โดยสารในแต่ละเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางที่เป็นยอดนิยมของผู้ใช้บริการ ได้แก่ สาย 510, 84, 134, 68, 95ก, 516, 1-38, 96, 145, 1-36, 15, 76, 511, 73, 205, 23 และ 95 อีกทั้งจะต้องพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งจำนวนผู้โดยสาร ระยะทาง และสภาพการจราจร รวมถึงปรับความถี่รถโดยสารของ ขสมก. ทุก ๆ 5-10 นาที ในช่วงเวลาเร่งด่วน

นางมนพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ให้ใช้ระบบ GPS และแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน จะช่วยให้ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบตำแหน่งของรถโดยสารได้ และจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดตามป้าย หรือสถานที่ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เพื่อบริหารจัดการเดินรถ ประสานท่าปล่อยรถในการนำรถมารับผู้ใช้บริการได้ทัน เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสาร ลดระยะเวลาในการรอรถโดยสาร ทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้รวดเร็วขึ้น และลดความเครียดจากการเดินทางด้วย.