เมื่อวันที่ 22 ก.ค. เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ สัตว์เอเลี่ยนสปีชีส์ ในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ที่พบจังหวัดแรกนั้น นายณัฏฐพล เข็มกำเนิด เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่หมู่ 4 ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เปิดเผยว่า เมื่อ 10 ปีก่อน ตนเลี้ยงสัตว์น้ำแบบธรรมชาติพื้นที่กว่า 500 ไร่ จับสัตว์น้ำพื้นถิ่นได้ เช่น กุ้ง ปลากระบอก ปลาดุก ปลาหมอเทศ และปลาธรรมชาติได้มากมาย  แต่เมื่อปี 2554 หลังชาวบ้านพบปลาหมอคางดำเริ่มระบาด มันกินลูกกุ้ง ลูกปลาจนหมด ผู้เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงสัตว์น้ำขาดทุนกันถ้วนหน้าเพราะต้องจ่ายค่าเช่าทุกปี แต่ปล่อยลูกกุ้ง ปลา ไปกี่ครั้ง พอเปิดบ่อมาก็เต็มไปด้วยปลาหมอคางดำ ที่ผ่านมาเคยพยายามสู้กับปลาหมอคางดำ โดยพัฒนาบ่อให้เป็นเชิงพาณิชย์จัดระบบกรองน้ำเข้าและจับปลาขึ้นให้หมด จากนั้นตากบ่อใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จนดินแห้งแตกระแหงเป็นฝุ่น แล้วนำรถแบ๊กโฮเข้าไปดันไถบ่อปรับพื้นแต่งบ่อใหม่ และตากบ่อต่ออีกอีกระยะหยึ่ง คิดว่าจะฆ่าปลาหมอคางดำให้หมด

“แต่เมื่อฝนตกลงมา สังเกตเห็นว่ามีอะไรดำผุดในน้ำ แรกๆ คิดว่า ลูกอ๊อด แต่เข้าไปดูใกล้ๆ พบว่าเป็นลูกปลาหมอคางดำ ยังงงว่ามันมาได้อย่างไร ชาวบ้านเชื่อมั่นว่า ปลาหมอคางดำมันน่าจะคายไข่ทิ้งไว้ในบ่อ มันอดทนมาก พอมีน้ำเข้ามามันก็ฟักเป็นตัวกลับมาอีก ไม่ยอมตายง่ายๆ จึงไม่รู้จะแก้ปัญหายังไงก็เลยเลิกเลี้ยงไปเยอะ ตอนนี้เหลือไม่กี่ไร่และก็ลองเปลี่ยนมาเลี้ยงปลากะพง แต่ราคาก็ไม่ดี สู้ราคากุ้ง ราคาปลากระบอกไม่ได้”

นายณัฏฐพล กล่าวด้วยว่า ชาวบ้านเดือดร้อนก็ฝากเตือนนักวิชาการว่าสิ่งที่น่ากลัวของปลาหมอคางดำอีกอย่างคือ “ไข่ปลา” เพราะแม้ตัวมันตาย แต่จะคายทิ้งไข่ไว้ เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ของมัน มันไม่ใช่ว่าเราตากแดดฆ่ามันได้ เวลามันถูกจับมันจะคายไข่ทิ้งไว้ เลยฆ่ามันไม่หมด เกษตรกรสู้มันไม่ได้จริงๆ ไม่มีหนทางที่จะกำจัดจริงๆ แม้การปล่อยปลากะพง ลงไปก็ไล่กินไม่หมด ดังนั้นหากจะปล่อยก็ควรปล่อยขนาดฝ่ามือ หรือ 4 ขีดขึ้นไป ก็อาจจะกินลูกปลาขนาด 1 นิ้ว 2 นิ้วได้ แต่ปลากะพงจะกินปลาชนิดอื่นก่อน จะกินปลาหมอคางดำเป็นตัวเลือกสุดท้าย เพราะก้างมันแข็ง เวลาจะถูกกินมันจะกางครีบออกให้ตัวใหญ่ขึ้นเฟื่อป้องกัน

สำหรับพื้นที่เลี้ยงกุ้ง ปลา ของตน อยู่ไม่ไกลจากฟาร์มเอกชนรายใหญ่ รอบๆ พื้นที่มีคลองเชื่อมโยงถึงกันหมด ยืนยันในอดีตไม่เคยพบปลาหมอคางดำ เพิ่งจะพบในคลองเมื่อปี 2554 และเริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนระบาดหนักในปัจจุบัน ที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรเคยลงทุนทำบ่อ 100 ไร่ ใช้เงินประมาณ 10 ล้าน แต่ปัจจุบันเลี้ยงอะไรไม่ได้แล้ว ขาดทุนเจ๊งหมด จึงฝากถึงผู้เกี่ยวข้องให้รับผิดชอบช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรบ้าง สำรวจในพื้นที่เดือดร้อนหนักๆ มีกี่บ่อ กี่ไร่ แล้วก็หารือว่าจะช่วยเหลือเยียวยาเท่าไหร่ จากนั้นคงต้องอยู่กับปลาหมอคางดำให้ได้ ชาวบ้านต่อสู้มา 4-5 ปี เอาชนะมันไม่ได้ต่างถอดใจแล้ว ส่วนประเด็นที่พูดกันว่า ในอดีตได้ทำลายฝังกลบซากไปแล้ว ก็อยากถามจ้างใครไปฝังกลบเพราะแถวๆ นี้ก็มีเจ้าของรถแบ๊กโฮแค่ 1 หรือ 2 รายเท่านั้น.