เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง เปิดใจตำรวจ ว่าด้วยการปฏิรูป กรณีศึกษาตัวอย่างตำรวจทุกสายงานทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 7,402 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยเมื่อสอบถามความภูมิใจและรักในความเป็นตำรวจ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.4 ภูมิใจและรักในความเป็นตำรวจมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 15.6 ภูมิใจและรักในความเป็นตำรวจน้อยถึงไม่เลย

ที่น่าสนใจคือ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วงที่มีข่าวขัดแย้งระหว่างนายตำรวจระดับสูงกับช่วงไม่มีข่าวขัดแย้ง พบว่า ความภูมิใจและรักในความเป็นตำรวจสูงขึ้นจากร้อยละ 82.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 84.4

อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกออกตามสายงานตำรวจ พบว่า สายงานสอบสวนมีความภูมิใจและรักในความเป็นตำรวจน้อยกว่าสายงานอื่น ๆ โดยพบว่า ตำรวจที่ภูมิใจและรักในความเป็นตำรวจมากถึงมากที่สุดในสายงานสอบสวนมีอยู่ร้อยละ 78.3 สายงานอำนวยการมีอยู่ร้อยละ 80.7 สายงานจราจรมีอยู่ร้อยละ 85.5 สายงานป้องกันและปราบปรามมีอยู่ร้อยละ 86.0 และสายงานสืบสวนมีอยู่ร้อยละ 87.5 ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงการปฏิรูปตำรวจ พบความต้องการของตำรวจที่ระบุ ปฏิรูปตำรวจแล้วต้องสามารถคืนศักดิ์ศรีความเป็นตำรวจได้แท้จริง เปรียบเทียบระหว่างช่วงมีข่าวขัดแย้งระหว่างนายตำรวจระดับสูง กับ ช่วงไม่มีข่าวขัดแย้ง พบว่า มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 80.9 ในช่วงที่มีข่าวขัดแย้ง มาอยู่ที่ร้อยละ 89.6 ในช่วงที่ไม่มีข่าวขัดแย้งระหว่างนายตำรวจระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจชิ้นนี้ ชี้ให้เห็นว่า ตำรวจมีความภูมิใจและรักในความเป็นตำรวจมากขึ้นเมื่อไม่มีข่าวขัดแย้งระหว่างนายตำรวจระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจที่สามารถคืนศักดิ์ศรีความเป็นตำรวจได้แท้จริง แต่น่าห่วงที่สายงานสอบสวนมีความภูมิใจและรักในความเป็นตำรวจต่ำกว่าสายงานอื่น เมื่อศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพเชิงลึกพบข้อเสนอแนะที่น่าพิจารณาดังนี้

1.สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรมีผู้นำหน่วยที่ผ่านงานที่หลากหลายทุกมิติโดยเฉพาะการเข้าถึงประชาชนดูแลประชาชนระดับพื้นที่ตั้งแต่ระดับสถานีตำรวจ กองบังคับการตำรวจนครบาลหรือภูธร กองบัญชาการตำรวจนครบาลหรือภูธร เพราะการเคยมีประสบการณ์เดินเคียงข้างผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนจะทำให้เข้าถึงเข้าใจหัวใจของผู้ใต้บังคับบัญชาและความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนแท้จริง การสั่งการของผู้นำหน่วยก็จะไม่สะเปะสะปะ ตรงเป้าตรงใจความต้องการของประชาชนและผู้ใต้บังคับบัญชามากกว่า

2.ควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งโยกย้ายให้เป็นธรรมและโปร่งใสแท้จริง
3.แก้ไขกฎหมายให้สนับสนุนการทำงานของตำรวจโดยเฉพาะสายงานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพ ผลสัมฤทธิ์และดีต่อคุณภาพชีวิตของพนักงานสอบสวนให้มากยิ่งขึ้น
4.เพิ่มโอกาสเติบโตในสายงานให้มากขึ้น

5.อื่นๆ เช่น การจัดโครงการด้านการศึกษา อบรมและพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจมีความรู้และทักษะที่ทันสมัย สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความพึงพอใจในหน้าที่การงาน ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และดูแลสวัสดิการ ที่พักอาศัย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันของข้าราชการตำรวจให้ดียิ่งขึ้น

การปฏิรูปตำรวจในครั้งนี้ควรดำเนินการอย่างรอบคอบและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดกับทั้งองค์กรโดยรวมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและการฟื้นฟูศรัทธาของประชาชนต่อตำรวจ