เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ผู้สื่อข่าวรายงาน กรณีชาวบ้าน หมู่ 4 บ้านหนองปืนแตก และ หมู่ 8 บ้านหนองมะค่า ต.สองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ร่วมตัวถือป้ายคัดค้านโครงการเหมืองแร่โดโลไมต์ ที่จะมาทำสัมปทานเหมืองแร่ ในพื้นที่ ต.สองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จากนั้นชาวบ้านได้ยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ กลุ่มป่าแก่งกระจาน

โดยวันนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรเชษฎ์ เชษฐมาส ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี หัวหน้าศูนย์ประสานงานมรดกโลกทางธรรมชาติกลุ่มป่าแก่งกระจาน หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ พบ.1 (ยางชุม) เจ้าหน้าที่สายตรวจปราบปรามประจำ สบอ.3 พบ สายที่1 เจ้าหน้าที่ฐานปฏิบัติการป้องกันรักษาป่าที่ พบ.1 (แม่คะเมย) ร่วมลงพื้นที่บ้านหนองปืนแตก พูดคุยรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้หากโครงการดังกล่าวเข้ามาทำสัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่จริงที่ห่างจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มรดกโลกเพียง 1.14 กิโลเมตร โดยชาวบ้านในพื้นที่มีข้อวิตกกังวลว่าหากมีโครงการเหมืองแร่โดโลไมต์เข้ามาในพื้นที่ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของชาวบ้านในหลายหมู่บ้าน กระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ กระทบด้านสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ สัตว์ป่า และแหล่งน้ำธรรมชาติ บริเวณโดยรอบ กระทบด้านการท่องเที่ยว การทำประชาพิจารณ์ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากชาวบ้านในพื้นที่

นายสมเจตน์ เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ กลุ่มป่าแก่งกระจาน ยังมีข้อห่วงกังวลจากโครงการทำเหมืองแร่ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งพื้นที่ดำเนินการโครงการเหมืองแร่ดังกล่าวอยู่ห่างจากแนวเขตมรดกโลกฯ เพียง 1.14 กิโลเมตร ที่ถูกจัดเป็น โซนสนับสนุนลำดับสูงหรือ High Priority Support Zone ของพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ กลุ่มป่าแก่งกระจาน และอาจเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่มีคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value – OUV) ภัยคุกคามดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุให้ UNESCO พิจารณาถอดถอนความเป็นมรดกโลกของกลุ่มป่าแก่งกระจานได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรเชษฎ์ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการที่ปรึกษาที่ปรึกษาพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ กลุ่มป่าแก่งกระจาน จะดำเนินการรวมรวมข้อมูลและข้อห้วงกังวลต่างๆ เสนอต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้รับทราบและพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้านอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยข้อมูลว่า เบื้องต้นโครงการทำเหมืองฯดังกล่าว ได้มีการประชาคมไปเพียงครั้งเดี่ยว แต่ชาวบ้านกลัวว่ามาทำเหมืองก็จะได้รับผลกระทบ จนชาวบ้านออกมาคัดค้าน ทางอุตสาหกรรมจังหวัด เลยยังไม่ได้อนุมัติให้เหมืองแร่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่อไป