เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 67 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ใครที่กังวลว่าหนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำด้วยการรับซื้อ จะทำให้เกิดเพาะเลี้ยงแล้วนำมาขาย นั้น ขออย่าได้เป็นกังวลไปเลยครับ

มันไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยเพราะ…1) ราคารับซื้อที่กิโลละ 15-20 บาท เลี้ยงยังไงก็ไม่คุ้ม เฉพาะแค่ค่าอาหารอย่างเดียว ปลาก็ต้องกินเกินกว่าค่าตัวแล้ว 2) แถมผิดกฎหมายด้วย ขืนเพาะเลี้ยงก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ สู้ไปทำอาชีพอื่นดีกว่า

อีกอย่าง…วาทกรรมที่เรียกปลาชนิดนี้ว่า “ปลาปิศาจ” นั้น ผมว่ามันทำให้ฟังแล้วให้ภาพเกินจริงไปไหม

ความจริงปลาชนิดนี้สามารถกินได้ ไม่มีพิษมีภัยอะไร เพียงแต่มันสามารถปรับตัวได้ในสภาพความเค็มของน้ำที่แตกต่างกันมากๆ ได้ดีกว่าปลาชนิดอื่น และมันแพร่พันธุ์ได้ไวเท่านั้น

ที่ว่ามันหลุดเข้าไปกินลูกกุ้งในบ่อเพาะเลี้ยงนั้น ขอเรียนว่าปลาอะไรก็ชอบกินลูกกุ้ง ไม่เฉพาะแต่ปลาหมอคางดำเท่านั้น ถ้าไม่ป้องกันให้ดีตั้งแต่ต้น ปล่อยให้มีปลาหลุดเข้าไปในบ่อเพาะเลี้ยงได้ ก็เสียหายได้ทั้งนั้นครับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ออกมาให้ข่าวว่าไทยไม่ได้เป็นที่แรก ที่อเมริกา ฟลอริดา ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ โดนหนักมาหลาย 10 ปี อยากให้กรมประมงและรัฐบาลศึกษาดูว่าในต่างประเทศทำอย่างไร เพื่อให้มีแผนการทำงานออกมาชัดเจน วิธีกำจัดด้วยชีวภาพ กำจัดด้วยกายภาพ สารเคมีก็มีนะ ระยะสั้น กลาง และยาว ถ้าเอามาประกบกัน

เข้าใจว่ากรมประมงก็ทำอยู่แล้ว คือใช้ปลาที่เป็นคู่แข่งกันในการเข้าไปจับ หรือการใช้ตัวผู้ที่เป็นหมัน เป็นวิธีที่ต่างประเทศทำ แต่ที่รู้สึกว่าไม่เคยเห็นประเทศไหนทำคือการรับซื้อ เพราะจะทำให้เกิด Cobra Effect หรือการแก้ปัญหาที่ยิ่งทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ยิ่งรับซื้อปุ๊บ คนไม่มีความสนใจมาก่อน ก็พร้อมที่เพาะ ยิ่งขาย มันจะยิ่งไปกันใหญ่ ตนไม่เคยเห็นการสร้างมูลค่าให้ปลาหมอคางดำ คนอาจจะใช้โอกาสนี้เพาะเลี้ยงมากขึ้น และส่งให้กรมประมง มันมีข้อเสีย อยากให้รัฐบาลคิดให้ดี