วันที่ 19 ก.ค. นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาเรื่องการเขียนพินัยกรรมชีวิต หรือหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต (Living Will) ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ว่า ตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการที่เป็นไปเพียงเพื่อการยืดชีวิตในระยะท้าย ที่ผ่านมา คนมาใช้งานตรงนี้ไม่เยอะเท่าไหร่ และส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยระยะท้าย หรือระยะประคับประคอง ที่ไปทำเอาในตอนนั้นแล้ว ก็เป็นการยากทั้งผู้ป่วย และญาติ แต่ทาง สช. มองว่า หากเราสามารถทำให้คนเตรียมตัว และแสดงเจตนารมณ์ไว้ล่วงหน้า จะทำให้ตัวผู้ป่วย ญาติ และสถานพยาบาลที่ให้การรักษาอยู่ รู้ข้อมูลพวกนี้อย่างตรงกัน เพราะถ้าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มันจะได้เชื่อมโยงกัน ซึ่งปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัล จึงมีการพัฒนาให้ผู้ป่วยสามารถเขียนพินัยกรรมชีวิตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Living Will ได้

นพ.สุเทพ กล่าวว่า โดยทาง สช.ได้ร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พัฒนาฐานข้อมูลภาครัฐ โดยประชาชนสามารถเขียนพินัยกรรมชีวิตได้ทางแอปพลิเคชัน ThaID  ซึ่งมี 2 แบบ 1. เขียนด้วยตัวเองในแอป ThaID โดยระบุว่า หากอยู่ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต ประสงค์ให้ทำอะไรบ้าง หรืออะไรที่ไม่อยากให้ทำ หรือจะมอบหมายให้ผู้อื่นเป็นผู้ตัดสินใจแทนก็ได้ หรือจะเขียนในกระดาษ แสดงความประสงค์แล้วถ่ายภาพอัพโหลดเข้ามาที่แอป ThaID เพื่อเป็นระบบฐานข้อมูลที่ตรงกัน รวมถึงสามารถให้ระบบส่งเป็นเอกสารเข้าอีเมลเพื่อพรินต์เก็บไว้อีกทางหนึ่งด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ประชาชนจะเขียนเมื่อไหร่ก็ได้ และจะยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ 24 ชั่วโมง  

นพ.สุเทพ กล่าวว่า ขณะนี้เราเริ่มเปิดให้ประชาชนแสดงสิทธิดังกล่าวผ่าน ThaID  ตั้งแต่เมื่อเดือน พ.ค. 2567 ถึงตอนนี้ราวๆ เดือนกว่าๆ มีคนมาใช้สิทธิแสดงเจตจำนงแล้วประมาณ 1 พันคน ถือว่า ยังไม่มากเท่าไหร่ แต่ก็มีความตื่นตัวมากกว่า อย่างไรก็ตาม ตนได้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อรายงานผลให้ทราบ และดำเนินการต่อ โดยล่าสุด ตนได้ทำหนังสือส่งถึงโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ให้ทราบถึงรูปแบบพินัยกรรมชีวิตอิเล็กทรอนิกส์ และสื่อสารให้ประชาชนทราบด้วย นอกจากนี้เรายังทำไลน์ @e-Living Will อีกด้วย 

“ประชาชนที่บรรลุนิติภาวะแล้ว สามารถเขียนพินัยกรรมชีวิตผ่านอิเล็กทรอสนิกส์ การทำในขณะที่เรารู้ตัว มีตรงนี้แล้ว ตัวเรา ญาติ และโรงพยาบาลจะสามารถทราบข้อมูลที่ตรงกัน โดยสามารถทำได้ตลอดเวลา และยกเลิกได้ตลอดเวลา เช่น สมมุติว่า เราไม่ต้องการให้เจาะคอ ไม่ต้องการใส่เครื่องช่วยหายใจ ไม่ปั๊มหัวใจ ที่เป็นไปเพื่อการยื้อชีวิตออกไปเท่านั้น เป็นการลดความเห็นที่ไม่ตรงกัน ที่จริงแพทย์ทำการรักษาเต็มที่อยู่แล้ว แต่บางคนต้องการสิทธิตายดี บางคนบอกว่าสุขสุดท้ายของชีวิต หรือมีการใช้หลายคำ ถ้าได้เตรียมไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาทุกคนจะได้ปฏิบัติได้ถูก ทั้งญาติ ทั้งบุคลากรการแพทย์” นพ.สุเทพ กล่าว.