สรุปประเด็นที่ คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ แถลงข่าวกรณีกระแสข่าวชุดพิธีการของทัพไทย ที่จะไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 แถลงโดย พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการฯ

1. พล.อ.วิชญ์ ระบุว่า น้อมรับความคิดเห็น ยอมรับว่า โอลิมปิคไทย ไม่ได้ชี้แจงให้ชัดเจนถึงการใช้งานชุดแต่ละชุด

2. ตั้งใจขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศไทย ในการออกแบบชุด

3. ชุดไทยพระราชทาน (ที่เป็นกระแส) คณะกรรมการโอลิมปิคฯ คัดเลือกผ้า ออกแบบตัดเย็บเอง ภายใต้ชื่อแบรนด์ “ทรงสมัย”

4. พล.อ.วิชญ์ กล่าวในการแถลงว่า การออกแบบชุดนี้ พระองค์ท่านทรงไม่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น และพระองค์ท่านก็ไม่ได้เป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของโอลิมปิคไทย

5. ตอนแรก พล.อ.วิชญ์ มีแนวคิดอยากนำเสื้อลายช้างให้ทัพนักกีฬาสวมใส่ขึ้นเรือในพิธีเปิด เพราะเห็นว่าเนื้อผ้าใส่สบาย แต่เกรงว่าจะดูสบายไป

6. ชุดพิธีการที่เป็นกระแสนั้น ใช้ในหลายพิธีการ เห็นว่าควรใส่ในพิธีเปิด แต่ก็เปลี่ยนแปลง เมื่อมาคำนึงถึงสภาพอากาศ

7. ชุดพิธีการนี้ โอลิมปิคไทย เห็นชอบในการออกแบบ แต่กระบวนการตัดเย็บ เป็น “ทรงสมัย” จัดการทั้งหมด จนส่งถึงนักกีฬา

8. ชุดพระราชทาน (ชุดพิธีการ) ควรตัดเข้ารูป แต่ที่ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย สวมใส่ จนเป็นกระแสนั้น สอบถาม “ทรงสมัย” ได้ข้อมูลว่า ปอป้อ รีเควสเอง ว่าต้องการทรงนี้ เอาแขนยาว ตัวยาว

9. พล.อ.วิชญ์ บอกว่า “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ใส่แล้วก็ดูสวยดี

10. ยืนยันทำเพื่อประเทศ ไม่มีอะไรแอบแฝง ไม่มีผลประโยชน์ตอบแทน

11. สรุปพิธีเปิด ใช้ชุดวอร์มแกรนด์สปอร์ต (ลายตามภาพ)

12. ประเด็นร้อนประเด็นใหม่คือ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน รองประธานโอลิมปิคไทย กำลังอธิบายเรื่องชุดแข่ง แล้วมีประโยคที่หลุดมาระหว่างแถลงว่า “ถ้าคุณถามผมส่วนตัว ผมใส่ชุดนี้ (ชุดวอร์มของแกรนด์สปอร์ต) แล้วดูอีกชุด (ชี้ไปที่ผู้ใส่เสื้อวอร์มแกรนด์สปอร์ตอีกแบบ) ลองไปเปรียบเทียบดูกับ ที่ชมนักชมหนา มองโกเลีย, ชมนักชมหนาของ เกาหลี, ชมนักชมหนาของเฮติ…ขอโทษนะครับ เหมือนงิ้วกับลิเกนะครับ ถ้าดูดีๆ แล้วจะเอาชุดลิเกเข้าไปเหรอ ที่ปารีส คงไม่ใช่อย่างนั้น สิ่งต่างๆ เมื่อเราฟังเสียงประชาชน สื่อมวลชน เราพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อให้ถูกกาลเทศะ”

13. ศ.เจริญ มาอธิบายเพิ่มเติม ถึงประโยคข้างต้นว่า “ขอเรียนเพิ่มเติม แต่ละชาติมีวัฒนธรรมของเขา เมื่อกี้ผมพูดถึงมองโกเลีย มันชุดวัฒนธรรมเก่าแก่ ผมหรือใครไม่มีสิทธิบอกว่าของเขาเป็นงิ้วหรือเป็นลิเกไม่ใช่ แต่ที่พูดบอกงิ้วหรือลิเก เพียงแต่ยกตัวอย่างเท่านั้นเอง จะเห็นในชุดหลายอย่าง หลายชาติ แม้กระทั่งจีน คงไม่ใช่เอาชุดแบบขุนนางเดิมหรืออะไรมาใช้ ใช้แบบนี้ ธรรมดา เพราะฉะนั้นเรื่องของเครื่องแต่งกายอยู่ที่สมัย อยู่ที่ยุค และอยู่ที่มุมมองของคน”

เป็นคำอธิบายของ คณะกรรมการโอลิมปิคไทยฯ ถึงกระแสดราม่าร้อนแรง อย่างไรก็ตาม แม้จะสงบกระแสหนึ่งในการอธิบายที่มาที่ไปได้ พร้อมน้อมรับผิด แต่เหมือนจะเปิดอีก 2 ประเด็นขึ้นมา คือกรณีคำพูดของ ศ.เจริญ ในเรื่อง “งิ้ว-ลิเก” ที่เจ้าตัวพยายามอธิบาย และอีกเรื่องคือ กรณีที่ “ปอป้อ” รีเควสขอเสื้อทรงแบบนี้เอง ทำให้อาจจะมองว่า โยนความผิดให้นักกีฬาหรือไม่