จากกรณีปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่ในปัจจุบันกลายเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น ตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงอย่างหนักในพื้นที่ 16 จังหวัดทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. จากกรณีครอบครัวของนายวรรณะ ยอดแก้ว อายุ 71 ปี และนายกรวิทย์ ยอดแก้ว อายุ 49 ปี ประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งในหมู่ 6 ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ถูกปลาหมอคางดำแพร่ระบาดในบ่อกุ้ง ทำให้จับกุ้งได้น้อยกว่าปกติ เสียหายรวมกว่า 300,000 บาท

นายกรวิทย์ กล่าวว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้คิดว่าปลาหมอกลางดำเป็นปลานิล ซึ่งสามารถเลี้ยงควบคู่กับกุ้งได้ในบ่อเดียวกัน และที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรได้รู้ หรือแยกแยะระหว่างปลาหมอคางดำ ปลานิล หรือปลาหมอเทศ เกษตรกร ชาวบ้านเพิ่งรู้เมื่อสื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง และมีการจัดกิจกรรมไล่ล่าจับปลาหมอคางดำในบ่อบำบัดน้ำเสียโครงการชลประทานน้ำเค็ม บ้านหน้าโกฐ ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ประมง มักจะตำหนิ ต่อว่าและโทษชาวบ้านผู้เลี้ยงกุ้ง ว่าปล่อยปละละเลย ไม่ตรวจสอบ ไม่ดูแลบ่อเลี้ยงกุ้ง เห็นว่ามีปลาหมอคางดำในบ่อ ทำไมไม่ใช้กากชาโรยในบ่อเพื่อฆ่าปลาหมอคางดำ เมื่อเกิดความเสียหายก็ออกมาโวยวาย และเรื่องนี้ต้องโทษเจ้าหน้าที่ประมง ที่นิ่งเฉยไม่ชี้แจง ประกาศเตือนให้ชาวบ้านได้เข้าใจและรู้จักปลาหมอคางดำว่าเป็นมหันตภัยจากต่างแดน ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่รู้และแยกไม่ออกว่าเป็นปลานิลหรือปลาหมอคางดำ หากสอบสวนเอาผิด เจ้าหน้าที่ประมงเป็นผู้ผิด ไม่ใช่ชาวบ้าน 

นายกรวิทย์ กล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปลาหมอคางดำ แพร่ระบาดในพื้นที่มาตลอด ทางเจ้าหน้าที่ประมงนิ่งเฉยอยู่ได้อย่างไร ทำไมไม่ออกประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจกับชาวบ้านบ้าง

“ยืนยันว่าที่ผ่านมาชาวบ้านไม่รู้จัก แยกแยะไม่ออกว่าเป็นปลานิลหรือปลาหมอคางดำ ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นปลานิล หรือปลาหมอเทศ  โดยก่อนหน้านี้พรรคพวกเพื่อนฝูงและบรรดาญาติ ๆ ของตน ที่อยู่ในอำเภอชะอวดและใกล้เคียง ที่เคยมาเยี่ยมและชมบ่อเลี้ยงกุ้ง เขาไม่รู้จักปลาหมอคางดำ คิดว่าเป็นปลานิล จึงได้นำกลับไปปล่อยในบ่อเลี้ยงหรือแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่หลายอำเภอ จึงเชื่อว่าถ้ามีการตรวจสอบกันจริง ๆ ในขณะนี้ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชน่าจะมีปลาหมอคางดำแพร่ระบาดเกือบ 10 อำเภอแล้วก็ได้” นายกรวิทย์ กล่าว

นายไพโรจน์  รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ตนเป็นคนแรกของจังหวัดนครศรีธรรมราช และภาคใต้ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ จนสื่อนครศรีธรรมราชเกาะติด และนำเสนอข่าว จนกลายเป็นกระแสที่เป็นอย่างปัจจุบันนี้ ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช เกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย ตนได้แนะนำให้ทำหนังร้องเรียนขอความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ เพื่อให้ทางกรมประมงเยียวยาชดเชยความเสียหาย แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ประมงตำหนิและกล่าวหาว่ารายงานความเสียหายเกินความเป็นจริง เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบซักไซ้ และหาใบเสร็จค่าใช้จ่ายในทุกรายการ อย่างเอาเป็นเอาตาย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ชาวบ้านแต่ละรายจะมีบิลหรือใบเสร็จค่าใช้จ่ายในทุกรายการ แทนที่เจ้าหน้าที่จะเห็นใจ สงสารชาวบ้าน และเอาจริงเอาจัง กระตือรือร้น กับการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทุกข์ยาก เจ้าหน้าที่ประมงควรจะรับผิดชอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่เกิดขึ้นหาก เจ้าหน้าที่ประมงมีการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับชาวบ้านอย่างจริงจัง เชื่อว่าสถานการณ์จะไม่ลุกลามบานปลายจนถึงปัจจุบันนี้