เมื่อวันที่ 19 ก.ค. เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้รับมอบหมายจากนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. ให้ประชุมชี้แจงและสร้างความเข้าใจแนวทางการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทย โดยมีนายนิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา กล่าวรายงาน ผู้อำนวยการสถานศึกษา ข้าราชการ ครู และบุคลากร ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เข้าร่วม โดยมีดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผศ.ดร.รินรดี ปาปะใน อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และว่าที่ร้อยตรี อิทธิพัทธ์ สมจู นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา เป็นวิทยากร ณ ห้องประชุมเดซี่ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น

เรืออากาศโท สมพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) ของเด็กและเยาวชนไทย เป็นการทำงานร่วมกัน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมีสถานศึกษานำร่องที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 10 แห่ง สอศ. ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ดำเนินการในการนำชุดทักษะที่จำเป็น สำหรับเด็กและเยาวชนไทยมาบูรณาการเข้ากับหลักสูตรการจัดการศึกษาของหน่วยงาน ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างความเข้าใจและกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรอาชีวศึกษา มุ่งเน้นการบูรณาการการใช้ชุดทักษะที่จำเป็นในการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา ส่งเสริมผู้เรียนอาชีวศึกษาให้มีชุดทักษะที่จำเป็นโดยเน้นทักษะพื้นฐาน (Basics Skills) เพื่อตอบโจทย์ความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงาน สามารถพัฒนาแนวทาง วิธีการ กระบวนการ สื่อการเรียนการสอนหรือรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ภายใต้การใช้ชุดทักษะที่จำเป็น ตลอดจนเพื่อให้สถานศึกษาเป็นต้นแบบ และขยายผลการนำร่องโครงการไปยังสถานศึกษาอาชีวศึกษาอื่น ๆ ในอนาคต

ด้านนายนิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา กล่าวว่า เพื่อขับเคลื่อนการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น ประกอบด้วย 2 กลุ่มทักษะ ได้แก่ ชุดทักษะขั้นพื้นฐาน (Basics Skills Set) เช่น ความฉลาดรู้ การคำนวณ ความฉลาดรู้ทางสังคม-วัฒนธรรมฯ และ ชุดทักษะขั้นสูง (advanced Skills Set) เช่น เรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติและกรอบความคิดแบบเติบโต ความฉลาดรู้ด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารฯ ซึ่งระยะแรกจะเน้นการนำชุดทักษะขั้นพื้นฐาน (Basics Skills Set) ไปบูรณาการเข้ากับหลักสูตรการจัดการศึกษาของสถานศึกษานำร่อง สังกัด สอศ. จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเทคนิคแพร่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย วิทยาลัยการอาชีพไชยา วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย วิทยาลัยเทคนิคนครโคราช และวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัตน์ โดยในการจัดการประชุมครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่ 1 ของโครงการ ซึ่งสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษาร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคนครโคราชได้ดำเนินการจัดประชุม ให้แก่สถานศึกษานำร่อง ทั้ง 10 แห่ง โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ภาคการศึกษา ประกอบด้วย 4 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 การประชุมชี้แจงและสร้างความเข้าใจแนวทางการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทย กิจกรรมที่ 2 การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สื่อการเรียนการสอน และรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทยของสถานศึกษา กิจกรรมที่ 3 การติดตามผลการดำเนินงานและกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการให้บรรลุเป้าหมาย และกิจกรรมที่ 4 การนำเสนอการวิจัยและนวัตกรรม สื่อการเรียนการสอน และรูปแบบการจัดการเรียนรู้จากการนำร่องชุดทักษะจำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทยของสถานศึกษานำร่อง