เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎร กำลังจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่กระทำผิดระหว่างปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยในการนิรโทษกรรมนั้น ไม่นำเอาความผิดเกี่ยวกับชีวิต และความผิดที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงรวมเข้า ส่วนการที่คณะกรรมาธิการที่ศึกษาเพื่อจัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เห็นว่ากรณีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 มีความอ่อนไหวทางการเมือง จึงมีความเห็นเป็น 3 แนวทาง คือ 1.ไม่ควรนิรโทษกรรม 2.ให้มีการนิรโทษกรรม โดยไม่มีเงื่อนไข 3.ให้มีการนิรโทษกรรมแบบมีมาตรการเงื่อนไขนั้น ตนขอแสดงความคิดเห็นในฐานะเป็นนักกฎหมาย มีความเห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 อยู่ในหมวด 1 ลักษณะ 1 ภาค 2 ซึ่งเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเมื่อพิจารณาประกอบกับรัฐธรรมนูญ หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ในหลายมาตรา อาทิ มาตรา 2 มาตรา 5 และมาตรา 6 จะเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ 112 เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญอย่างมีนัยสำคัญ

นายคารม กล่าวอีกว่า เพราะฉะนั้น ถ้ามีคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 หรือ 112 แล้ว ต่อมาได้ออกกฎหมายที่นิรโทษกรรมให้การกระทำดังกล่าวไม่ถือเป็นความผิด โดยอ้างว่าที่กระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์ไปเพราะมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองนั้น อาจเป็นการส่งเสริมให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ ทั้งที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 2 เขียนไว้ว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งยิ่งบอกชัดว่าการละเมิดพระมหากษัตริย์เป็นเจตนากัดเซาะบ่อนทำลายระบบการปกครองของประเทศด้วย จึงไม่อาจอ้างถึงมูลเหตุจูงใจในทางการเมืองหรือทางใด ดังนั้น การทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 หรือ 112 ไม่เหมือนกับความผิดอาญาทั่วไป หากเอามาอยู่ในร่างกฎหมายนิรโทษกรรม จะทำให้ร่างกฎหมายนี้เป็นโมฆะ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 5 ค่อนข้างแน่นอน และจะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งด้วย

“ส่วนผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 110 หรือมาตรา 112 ควรต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้มีเจตนากระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์ โดยให้เขาได้รับสิทธิการประกันตัว และหากสุดท้ายผลของคดีเป็นอย่างไร บุคคลดังกล่าว ยังมีสิทธิในการขอพระราชทานอภัยโทษต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นพระราชอำนาจของพระองค์โดยแท้” นายคารม กล่าว