“KKP Research” ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นช้าลงหลังโควิด-19 ไม่ได้เป็นเพียงการโตต่ำกว่าศักยภาพ แต่อาจเป็นเพราะศักยภาพเศรษฐกิจไทยกำลังถดถอยลง โดยในระยะข้างหน้า ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโตได้ต่ำกว่า 2% ด้วย 3 เหตุผลหลัก จากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ภายใต้ภาวะการแข่งขันจากต่างประเทศที่เข้มข้นขึ้น, กำลังแรงงานที่ทั้งลดลงและแก่ตัวลง และขาดการลงทุนที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพของปัจจัยการผลิต

ส่วนหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผลิตภาพของไทยลดลง เพราะการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มหรือผลิตภาพต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรม, คุณภาพของการศึกษาที่นำไปสู่ปัญหาคุณภาพแรงงาน และการขาดการลงทุน ทั้งจากธุรกิจภายในประเทศและจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และขาดนโยบายสนับสนุนนวัตกรรมและการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน

“หากไม่มีการลงทุนที่จะยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่สำคัญต่อเศรษฐกิจในอนาคตและทุนมนุษย์ คงเป็นไปได้ยากที่ผลิตภาพจะเพิ่มขึ้นจนสามารถชดเชยจำนวนแรงงานหรือทุนที่ลดลงไป”

KKP Research เสนอแนะว่ารัฐบาลไทย ควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปใน 4 ด้าน เพื่อยกระดับศักยภาพ GDP อีกครั้ง ได้แก่

1.เพิ่มผลิตภาพ ดึงดูดแรงงานทักษะสูง โดยหากไทยจะสามารถกลับมาเนื้อหอมและดึงดูดการลงทุนได้อีกครั้ง การปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อเพิ่มแรงงานทักษะสูงที่จะมาพร้อมกับการลงทุนใหม่ ๆ นอกจากนี้ การทบทวนนโยบายนำเข้าแรงงานทักษะสูงจะต้องคิดใหม่ เพื่อให้สามารถดึงดูดแรงงานที่ประเทศไทยยังขาด และที่สำคัญคือนโยบายส่งเสริมการแข่งขันและต่อด้านการผูกขาด

2.การเปิดเสรีภาคบริการ เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดและมีผลต่อศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่สุด โดยเฉพาะการส่งเสริมและเพิ่มการแข่งขันในภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายระเบียบข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคอื่น ๆ ในการทำธุรกิจ

3.เพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตร ภาคการเกษตรนับเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำสุด แต่มีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจมากในแง่ของสัดส่วนแรงงาน การเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตรและแรงงานในภาคเกษตร และการเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร จะช่วยเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยได้อีกมาก

4.ปฏิรูปภาคการคลัง ประเด็นนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับการยกระดับศักยภาพโดยตรง แต่ความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุย่อมนำไปสู่ความเสี่ยงทางด้านการคลังของประเทศโดยตรง การที่ฐานภาษีที่อยู่ในระดับต่ำ (สัดส่วนรายได้ต่อ GDP อยู่ที่เพียงไม่ถึง 15% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหลายประเทศ) และรายจ่ายด้านสาธารณสุขที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ยากที่ภาครัฐจะสามารถลงทุนขนาดใหญ่เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยได้อย่างจริงจัง หากไม่จัดการปัญหาด้านภาระทางการคลังเสียก่อน