เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่รัฐสภา นายณกร ชารีพันธ์ โฆษกคณะ กมธ.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย น.ส.รัชนก สุขประเสริฐ โฆษกคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ในคณะ กมธ.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รับยื่นหนังสือจากนายเอกชัย หงส์กังวาน ตัวแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ เรื่องขอให้ดำเนินคดีอาญากับบริษัทแห่งหนึ่ง ในการนำเข้าปลาหมอคางดำ

โดยนายเอกชัย กล่าวว่า สืบเนื่องจากผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย โดยมีการนำเข้าแบบมีเงื่อนไขคือ เพื่อการวิจัยและเพื่อมาผสมพันธุ์กับปลานิล โดยบริษัทเอกชน และมีการนำเข้าจริงเกิดขึ้นปี 2553 หลังจากนั้นได้มีการแจ้งว่างานวิจัยผิดพลาด เนื่องจากปลาอ่อนแอและตายในที่สุด แต่ต่อมาได้พบปลาหมอคางดำแพร่หลายในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม กทม. และพื้นที่แถบภาคใต้ ซึ่งคาดว่าเป็นการนำเข้ามาหลายครั้ง และเห็นได้ว่าบริษัทกำลังปกปิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ จึงขอให้คณะ กมธ.ดำเนินคดีอาญากับบริษัทแห่งหนึ่งและเรียกร้องค่าเสียหายเพื่อเยียวยาสิ่งแวดล้อม

นายณกร ชารีพันธ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า คณะ กมธ.พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ในคณะ กมธ.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไม่ได้มีความนิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าวที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร

ด้าน น.ส.รัชนก สุขประเสริฐ กล่าวว่า การนำเข้าปลาหมอคางดำ มีการพิจารณาร่วมกันจำนวน 3 ครั้ง และจะนำข้อร้องเรียนของพี่น้องประชาชนเข้าสู่การพิจารณาของคณะ กมธ. ต่อไป.