หลังจากสำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย และกองทุนประกันวินาศภัย ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงแนวทางช่วยเหลือประชาชนผู้ทำประกันภัย กรณีบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ถูกสั่งปิดกิจการ ล่าสุด เดลินิวส์ออนไลน์ สรุปให้ติดตามแนวทางการช่วยเหลือ และวิธีทวงหนี้ ดังนี้

เปิดไทม์ไลน์ ทวงหนี้สินมั่นคง

  • 9 กรกฎาคม 2567 แต่งตั้งกองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชี บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามคำสั่งที่ 19/2567
  • 11 กรกฎาคม 2567 กองทุนฯ ได้ดำเนินการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการและจดทะเบียนเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทสินมั่นคงฯ  
  • 9 กรกฎาคม-7 สิงหาคม 2567 กองทุนฯ จะได้มีการประกาศลงในหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ ติดต่อกัน 3 วัน และส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงบรรดาเจ้าหนี้เพื่อแจ้งบอกเลิกกรมธรรม์และแจ้งให้เจ้าหนี้ยื่นคำทวงหนี้
  • 8 กันยายน 2567 บอกเลิกกรมธรรม์และสิ้นสุดความคุ้มครอง  
  • 9 กันยายน-วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 จะเปิดให้ยื่นคำทวงหนี้ผ่านระบบ Online  รวมระยะเวลายื่นคำทวงหนี้ 60 วัน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
  • สามารถติดต่อสอบถามได้ที่กองทุนประกันวินาศภัย หรือสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th หรือสายด่วน คปภ. 1186 หรือผ่านช่องทาง LINE ‘คปภ.รอบรู้ @oicconect’

เอกสารหลักฐาน สำหรับยื่นทวงหนี้ผ่านทางออนไลน์

กรณีเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันฯ ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ประกาศให้ทวงหนี้ ซึ่งจะต้องเตรียมหลักฐาน

  • กรมธรรม์ประกันภัย 
  • บัตรประชาชน
  • ใบเคลม
  • ใบนัดชำระหนี้
  • หรือเอกสารอื่นๆ ที่ระบุถึงมูลหนี้ โดยต้องยื่นคำขอพักชำระหนี้ภายใน 60 วัน

กรณีเป็นเจ้าหนี้อื่น ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันฯ ภายใน 60 วันนับตั้งแต่ประกาศให้ทวงหนี้ ซึ่งจะต้องเตรียมหลักฐาน

  • หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้
  • บัตรประชาชน
  • หนังสือรับรองการจัดทะเบียนนิติบุคคล กรณีเป็นนิติบุคล

สำหรับสถานะบริษัท สินมั่นคงฯ

  • มีสินทรัพย์รวม 4,785.08 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 38,056.34 ล้านบาท โดยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 33,271.26 ล้านบาท
  • บริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องหลังหักภาระผูกพันคงเหลือจำนวน 2,228.28 ล้านบาท
  • มีสินไหมทดแทนค้างจ่าย 484,204 เคลม วงเงิน 32,184.83 ล้านบาท แบ่งเป็น สินไหมทดแทนประกันภัยโควิด 19 จำนวน 356,661 เคลม วงเงิน 30,124.47 ล้านบาท สินไหมทดแทนค้างจ่ายอื่น (Non-Covid 19) จำนวน 127,543 เคลม วงเงิน 2,060.36 ล้านบาท
  • มีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับ 789,477 กรมธรรม์ แบ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยประเภทรถ (Motor) จำนวน 366,458 กรมธรรม์ และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น (Non-Motor) จำนวน 423,019 กรมธรรม์

แนวทางช่วยเหลือสำหรับผู้ถือกรมธรรม์สินมั่นคง ที่ยังไม่หมดอายุ

  • ผู้เอาประกัน สามารถขอรับเบี้ยประกันส่วนที่เหลือจากกองทุนประกันวินาศภัยได้ ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่
  • ผู้เอาประกันภัยสามารถติดต่อขอซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่กับบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการ โดยวันเริ่มต้นความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ให้ถือว่าเป็นวันสิ้นสุดของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิม โดยบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ที่มีระยะเวลาความคุ้มครอง 1 ปี และจะคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมในส่วนที่มีสิทธิได้รับคืนตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ เช่น ต้องการชื้อประกันภัยรถยนต์กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการเบี้ยประกันภัยฉบับใหม่ 10,000 บาท หากคำนวณเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดิมตามระยะเวลาที่มีเบี้ยประกันภัยคงเหลือ 4,000 บาท ดังนั้น ผู้เอาประกันภัยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการเพื่อซื้อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่ 6,000 บาท
  • สำหรับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือมีจำนวน 9 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เออร์โกประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

กรณีเกิดอุบัติเหตุกับคู่กรณีที่ถือประกันของสินมั่นคง ในส่วนแนวปฏิบัติในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

  • กรณีที่ 1 รถของผู้เอาประกันภัยกับบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ เป็นฝ่ายผิด ให้บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถฝ่ายถูก ดำเนินการ จัดซ่อมรถตนเองและไม่ฟ้องไล่เบี้ยผู้เอาประกันภัย แต่จะไปยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทุนฯ แทน
  • กรณีที่ 2 รถของผู้เอาประกันภัยกับบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ เป็นฝ่ายถูก ให้บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถฝ่ายผิด ดำเนินการจัดซ่อมหรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ ที่เป็นฝ่ายถูก