สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ว่าการใช้จ่ายทั่วโลกในผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมเกาหลี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเป็น 143,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.1 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2573

การวิจัยใหม่ซึ่งเผยแพร่โดยติ๊กต็อก และบริษัทวิเคราะห์กันตาร์ ระบุว่า ความนิยมซึ่งเพิ่มสูงขึ้นของสิ่งที่เรียกว่าเนื้อหา ‘เค’ ขยายทั่วแพลตฟอร์มโซเชียล ซึ่งผู้ใช้ต่างชื่นชมละครเกาหลี เพลงป๊อป, อาหาร และเครื่องสำอาง ขณะที่ติ๊กต็อกเพิ่งเริ่มได้รับความนิยมอย่างล้นหลามด้วยคลิปสั้น ๆ ของคนรุ่นใหม่ที่เต้นเพลงเคป๊อป และเริ่มขยายไปสู่วัฒนธรรมและประเพณีอื่น ๆ ของเกาหลีมากขึ้น

ตลาดฮันรยู หรือกระแสเกาหลี ซึ่งครอบคลุมถึงการส่งออกวัฒนธรรมของประเทศ คาดว่าจะมีมูลค่า 76,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.7 ล้านล้านบาท) และเนื้อหาไวรัลเกี่ยวกับวัฒนธรรมเกาหลีควรถูกผลักดันให้มากขึ้น เพื่อดึงดูดผู้ชมที่เพิ่มขึ้นในตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มากไปกว่านั้น การใช้จ่ายโดยรวมในแต่ละครั้งอาจสูงถึง 198 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,122 บาท) ภายในสิ้นทศวรรษนี้ หากผู้บริโภคสนใจเริ่มซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค, บริการ และความบันเทิงของเกาหลี

แต่หากเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ผลผลิตของเกาหลีใต้ยังค่อนข้างน้อย แต่โซเชียลมีเดียกำลังช่วยลดช่องว่าง โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มติ๊กต็อก ซึ่งมีการกล่าวถึงเนื้อหาในหัวข้อต่าง ๆ มากขึ้น อาทิ บะหมี่บูลดัก มียอดขายพุ่งสูงขึ้น หลังแร็ปเปอร์คาร์ดี บี ไลฟ์สดลองรับประทานบะหมี่ดังกล่าว และมียอดผู้เข้าชมเกือบ 40 ล้านครั้ง ส่งผลให้หุ้นของผู้ผลิตบะหมี่เกาหลี ซัมยัง ฟู้ดส์ พุ่งสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้

เกาหลีใต้โด่งดังในด้านการส่งออกสินค้าที่จับต้องได้ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า แม้สินค้าเหล่านั้นยังครองแชมป์ในแง่ของเศรษฐกิจ แต่ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของกระแสฮันรยู ช่วยเพิ่มพลังซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ และแบรนด์ต่างๆ รวมไปถึงเปิดโอกาสให้เศรษฐีรุ่นใหม่ จากแวดวงความคิดสร้างสรรค์ เช่น เคป๊อปและเว็บตูน

อย่างไรก็ตาม ผู้ชมของติ๊กต็อกในเกาหลีใต้ มีน้อยกว่าผู้ชมของยูทูบและอินสตาแกรม ติ๊กต็อกจึงเป็นช่องทางเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีในระดับสากล ขณะที่ผู้ใช้ในท้องถิ่นหันมาสนใจแพลตฟอร์มอื่น แต่ในสหรัฐและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลการวิจัยพบว่า ผู้ใช้ประมาณร้อยละ 80 ค้นพบวัฒนธรรมเกาหลีผ่านติ๊กต็อก

“หากคุณดูเรื่องราวความสำเร็จของเทรนด์เกาหลีระดับโลก พวกเขาถูกกระตุ้นโดยเนื้อหารอง จากผู้สร้างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นายซน ฮยอน-โฮ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายทางเลือกธุรกิจระดับโลกของติ๊กต็อก โคเรีย กล่าว “มันแสดงให้เห็นว่าตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำหน้าที่เป็นประตูและศูนย์กลาง สำหรับกระแสไวรัลระดับโลกของคอนเทนต์เกาหลี” ความสนใจในวัฒนธรรมเกาหลีเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ติ๊กต็อกเริ่มขยายธุรกิจอีคอมเมิร์ซผ่าน ติ๊กต็อก ช็อปส์ ในสหรัฐ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งบริษัทพบว่า ผู้ใช้มากกว่าครึ่งหนึ่งซื้ออาหารเกาหลี หรือเครื่องสำอางเกาหลีโดยตรงจาก ติ๊กต็อก ช็อปส์

นอกจากนั้น การใช้จ่ายทั่วโลกในปัจจุบันสำหรับเพลงเกาหลี รวมถึงตั๋วคอนเสิร์ตและคอนเทนต์เกาหลี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 11,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 417,217 ล้านบาท) ในปีนี้

ขณะที่การใช้จ่ายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ความงาม และอาหารของเกาหลี คาดว่าจะเติบโตเป็นมากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 719,340 ล้านบาท) และตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มขาขึ้น โดยผู้ใช้ 7 จาก 10 คน ในสหรัฐและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะใช้จ่ายในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องสำอางเกาหลีเพิ่มขึ้นในปีหน้า.

เครดิตภาพ : AFP