กรณีปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่ในปัจจุบันกลายเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น ตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงอย่างหนักในพื้นที่ 16 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ทางสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งปากพนัง ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรี ได้จัดงบประมาณสนับสนุนการปฏิบัติการกำจัดปลาหมอคางดำ ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

วิกฤติ ‘ปลาหมอคางดำ’

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรับแจ้งจากนายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรนครศรีธรรมราช ว่ามีเกษตรกรผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้ง ตามโครงการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำของรัฐบาล ในพื้นที่หมู่ 4 ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ประสบปัญหา เมื่อถึงกำหนดการจับกุ้งปรากฏว่ามีปลาหมคางดำหลายหมื่นตัวเต็มบ่อเลี้ยงกุ้ง ทำให้ได้กุ้งจำนวนน้อยกว่าปกติ จึงเดินทางไปตรวจสอบ

ที่บ่อเลี้ยงกุ้ง พบนายวรรณะ ยอดแก้ว อายุ 71 ปี และนายกรวิทย์ ยอดแก้ว อายุ 49 ปี บุตรชาย เพิ่งเสร็จจากการเปิดบ่อจับกุ้ง โดยในบ่อมีเพื่อนบ้านจำนวนหนึ่งลงไปทอดแห และใช้สวิงซ้อนจับปลาหมอคางดำ ซึ่งยังลอยเป็นแพดำมืด ทั้งที่มีการจับไปแล้วในช่วงเปิดบ่อจับกุ้งวานนี้ (16 ก.ค.) กว่า 1 ตัน คาดว่าเพื่อนบ้านมาจับปลาหมอคางดำได้อีกกว่า 500 กก. รวมปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงกุ้งประมาณ 1.5 ตัน ตอนนี้ในบ่อเหลือปลาหมอคางดำตัวเล็ก ๆ ในบ่อกุ้งอีกนับหมื่นตัว

นายกรวิทย์ บุตรชาย เปิดเผยว่า ประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งตามโครงการส่งเสริมของรัฐบาลมานานหลายปีแล้ว สำหรับบ่อนี้มีความกว้าง 2.5 ไร่ ปล่อยกุ้งเลี้ยง 2 แสนตัว ตามปกติเมื่อถึงระยะเวลาในการจับประมาณ 4 เดือน จะได้กุ้งจำนวนไม่น้อยกว่า 4 ตัน ตัวกุ้งใหญ่ขนาด 30-35 ตัว/กก. ซึ่งในครั้งที่แล้วได้กุ้งในบ่อถึง 6 ตัน แต่ครั้งนี้ ตนและพ่อตั้งใจว่าจะเลี้ยงในระยะเวลา 4 เดือนครึ่ง เพื่อให้ได้กุ้งน้ำหนัก 28 ตัวต่อกิโลกรัม โดยยอมจ่ายค่าอาหารเพิ่มขึ้นและค่าอาหารแพงมากกระสอบละ 1,060 บาท กระทั่งเมื่อวานนี้ (16 ก.ค.) เป็นวันครบกำหนดจับกุ้ง ก็ตกใจมาก เมื่อเห็นปลาหมอคางดำที่ตอนแรกเข้าใจว่าเป็นปลานิลจำนวนมาก และจับกุ้งทั้งบ่อได้แค่ ประมาณ 2.6 ตัน ซึ่งถือว่าน้อยกว่าปกติมาก อย่างน้อยที่สุดควรจะเคยได้ 4 ตันขึ้นไป

นายกรวิทย์ กล่าวอีกว่า สภาพแบบนี้บอกตรงๆ ว่าใจหาย เพราะการเลี้ยงกุ้งต้นทุนสูงราคาอาหารแพง ราคากุ้งก็ถูกกว่าปกติ 28-30 ตัวกิโลกรัม ได้ราคาสูงสุดแค่ 188 บาทเท่านั้น ทั้งที่ควรจะได้ราคากิโลกรัมละ 200 บาทขึ้นไป จำนวนกุ้งที่หายไป จากปกติกว่า 1.5 ตัน นั่นคือเงินที่หายไป เมื่อบวกกับค่าอาหาร เลี้ยงกุ้งที่เพิ่มจากปกติเกือบ 100,000 บาท และค่าไฟเดือนละเกือบ 20,000 บาท ค่าดูแลค่าบริหารจัดการต่างๆ จึงทำให้การเลี้ยงกุ้งในเที่ยวนี้เงินหายไป 3-4 แสนบาท จึงอยากให้ทางราชการ ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำโดยด่วนที่สุด เพราะเราเลี้ยงตามโครงการสนับสนุนของรัฐบาล

นายกรวิทย์ กล่าวเสียงละห้อยอีกว่า สำหรับเกษตรกรโดยทั่วไป ก่อนหน้านี้เขาอาจจะแยกแยะไม่ออกว่าเป็นปลาหมอคางดำ เพราะมันมีลักษณะเหมือนกับปลานิล ซึ่งตามปกติปลานิลกับกุ้งสามารถเลี้ยงในบ่อเดียวกันได้ เพราะปลานิลจะช่วยในการกินตะไคร่น้ำ รวมทั้งขี้กุ้งในบ่อกุ้ง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบ่อเลี้ยงกุ้งของตน บ่อนี้เป็นการเลี้ยงระบบปิด ไม่มีทางที่ปลาหมอคางดำจะหลุดรอดเข้าไปในบ่อกุ้งได้ ซึ่งยังหาสาเหตุและจุดที่ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดเข้าไปในบ่อเลี้ยงกุ้งได้อย่างไร เริ่มตั้งแต่การสูบน้ำจากบ่อพัก ซึ่งเป็นบ่อที่รับน้ำฝน ไม่ได้สูบน้ำจากร่องน้ำหรือแหล่งน้ำที่ทางราชการเขาจัดเตรียมไว้ให้เกษตรกร เมื่อสูบน้ำเข้าบ่อเลี้ยงกุ้ง ก็มีการกรองน้ำถึง 2 ชั้น โดยในระยะเวลาการเลี้ยง 4 เดือนครึ่ง ในช่วงแรก 2 เดือนครึ่ง ไม่พบว่ามีปลาหมอคางดำในบ่อกุ้งแต่อย่างใด จึงคาดว่าปลาหมอคางดำเพิ่งเข้าไปในบ่อกุ้งในช่วงที่กุ้งมีอายุกว่า 2 เดือนครึ่งแล้ว เพราะในระยะดังกล่าว เริ่มเห็นปลาหมอคางดำ แต่เข้าใจว่าเป็นปลานิลอยู่ในบ่อเป็นจำนวนมาก จึงไม่ได้จับหรือใช้กากชาโรยในบ่อ ทำลายหรือฆ่าปลาหมอคางดำ ยังโชคดีที่ปลาหมอคางดำ กินกุ้งที่ขนาดใหญ่ไม่ได้ แต่จะกินกุ้งที่ตัวยังขนาดเล็ก หากปลาหมอคางดำ แพร่ระบาดเข้าไปในบ่อกุ้งตั้งแต่กุ้งยังเล็กๆ กุ้งคงถูกกินเกลี้ยงบ่ออย่างแน่นอน

ขณะที่นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด พบปัญหาเพิ่มขึ้นหลายเรื่อง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำลงไปในบ่อเลี้ยงกุ้ง ซึ่งหากเลี้ยงตามธรรมชาติก็มีโอกาสเข้าไปได้ไม่ยาก แต่การเลี้ยงระบบปิดบ่อเก็บน้ำ ก็เป็นบ่อปิดเก็บกักน้ำ เมื่อสูบเข้าบ่อก็ยังกรอง 2 ชั้น ปลาหมอคางดำมันเข้าไปไดอย่างไร โดยเฉพาะบ่อของนายวรรณะ และนายกรวิทย์ ยอดแก้ว สองพ่อลูก เขาเพิ่งพบว่ามีลูกปลาหมอคางดำ แต่เข้าใจว่าเป็นปลานิล เมื่อกุ้งมีอายุ 2.5 เดือน เขาจึงไม่จับหรือโรยกากชาฆ่าปลาหมอคางดำ เพราะเข้าใจว่าเป็นปลานิล ซึ่งปลานิลเลี้ยงคู่กับกุ้งในบ่อเดียวกันได้ ปลานิลจะช่วยในเรื่องการปรับสภาพน้ำในบ่อ เพราะช่วยกินตะไคร่น้ำและขี้กุ้ง จึงปล่อยเอาไว้ เพิ่งมาทราบว่าเป็นปลาหมอคางดำเมื่อ 4-5 วัน ก่อนกำหนดจับ ตอนนี้เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องติดตามศึกษาวิจัยหาสาเหตุที่ปลาหมอคางดำหลุดเข้าไปในบ่อเลี้ยงกุ้งอย่างจริงจัง โดยตนตั้งสมมุติฐานที่เป็นสาเหตุที่คาดไม่ถึงไว้ 2-3 ประการ จะเปิดเผยในโอกกาสต่อไป.