เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. …. วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอเพื่อใช้ในโครงการเติมเงินหมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต 

โดยนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ชี้แจงว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ที่มองไม่ตรงกันใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.เศรษฐกิจประเทศยังไม่ต้องการกระตุ้นอย่างหนัก แต่รัฐบาลมองว่า มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ 2.การกู้เงินมาใช้จ่าย ที่มองว่ามีการกู้เงินเต็มเพดานแล้ว แต่ความจริงหนี้สาธารณะประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 64 นั้น มาจากการใช้คำนิยามที่เข้มข้นกว่ามาตรฐานสากล และไอเอ็มเอฟ เพราะนับหนี้สาธารณะในส่วนที่สากลไม่นับคือ รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นภาระต่อรัฐบาล ถ้าเรานับหนี้สาธารณะตามคำนิยามสากลแล้ว หนี้สาธารณะประเทศไทยอยู่แค่ร้อยละ 58.4 ยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่มีปัญหาใดๆ 3.การมองว่าผลตอบแทนได้ไม่คุ้มเสีย ยกตัวเลขว่า ลงทุน 5 แสนล้านบาท แต่ได้ผลตอบแทนแค่ 3.5 แสนล้านบาท เป็นการมองที่ผิดพลาดทางวิชาการ การคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มีแค่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ข้อมูลพื้นฐานประชาชนจะเข้ามาอยู่ในระบบ ทำให้มาตรการภาครัฐหลังจากนี้สามารถตรงไปช่วยเหลือประชาชนได้โดยตรง ต้องเอาไปรวมอยู่ในการประเมินความคุ้มค่าของโครงการด้วย

รมช.คลัง กล่าวต่อว่า 4.การมองว่า เอื้อประโยชน์รายใหญ่ แต่รัฐบาลมองว่า การกำหนดรัศมีการใช้เงิน 4 กิโลเมตร เพราะต้องการให้เงินไหลเข้าชุมชน ไม่เข้าสู่เมืองใหญ่ ทุกเงื่อนไขทำให้เงินลงสู่ชุมชนมากสุด 5.การไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ร่วมด้วย ยืนยันว่า รัฐบาลมีทั้งมาตรการอัดเม็ดเงินจริง และการอัดเม็ดเงินลักษณะสินเชื่อ แต่มีผลทางเศรษฐกิจคล้ายกัน.