ยามนึกครึ้มอยากกินอะไรที่แซ่บซี้ด!!! มากระตุ้นต่อมความสดชื่น อดคิดถึง “อาหารอีสาน” รสชาติสุดจี๊ดเสียมิได้ วันนี้จึงอยากพามาทำความรู้จักกับ “เผ็ด เผ็ด” ร้านอาหารอีสานอันโด่งดังที่สั่งคมความแซบมาตลอดระยะเวลา 8 ปีเต็ม ที่ต้องขอออกตัวเล็กๆ ว่า ไม่ได้มา ช้าไป!!! หากมาร่วมฉลองความสำเร็จให้กับสองหนุ่มผู้บริหาร คุณต้อม-ณัฐพงศ์ แซ่หู และ คุณโอม-ณัฐกร จิวะรังสินี ที่เพิ่งเป็นร้านที่ได้รับรางวัล “ร้านอาหารสุดยอดซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทย LINE MAN Wongnai Users’ Choice 2024” ซึ่งถือเป็นตราสัญลักษณ์การันตีคุณภาพของร้าน คัดโดยคนไทย เพื่อคนไทย

โอม-ณัฐกร จิวะรังสินี และ ต้อม-ณัฐพงศ์ แซ่หู สองผู้บริหารผู้ก่อตั้งร้าน เผ็ด เผ็ด

“สิ่งสำคัญที่คิดว่าทำให้ร้านของเราได้รับรางวัล น่าจะเป็นเพราะรสชาติส้มตำที่มีเอกลักษณ์ น้ำส้มตำของเราจะมีหลักๆ 5 ชนิดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำกะปิ น้ำปลาร้า ตำหลวงพระบาง ตำน้ำปลา ตำปลาร้าโหน่ง ให้ลูกค้ามีตัวเลือกที่รับประทานมากมาย” คุณต้อมและคุณโอม พูดถึงความภาคภูมิใจกับรางวัล

จุดเด่นของร้าน “เผ็ด เผ็ด” ในใจของคนชื่นชอบอาหารอีสานรสจัดจ้าน จะเป็นร้านอาหารอีสานสไตล์รูปแบบคาเฟ่ดีไซน์เก๋ไม่เหมือนใคร และการันตีเป็นที่ 1 ในเรื่องความ “เผ็ด!!!” สมชื่อ นอกจากนั้นยังใส่ใจในวัตถุดิบ รสชาติทุกจานต้องเป็นตามแบบอาหารอีสานต้นตำรับ “นครพนมแท้” จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ จัดแบ่งพื้นที่บริเวณหน้าร้านจำหน่ายกระเป๋ามาเป็นร้านอาหาร ปัจจุบัน “เผ็ด เผ็ด” เติบโตแบบก้าวกระโดด มีทั้งหมด 8 สาขา ให้เลือกแวะเวียนไปชิม เพราะแต่ละแห่งมีความเป็นเอกลักษณ์ และมีเมนูแตกต่าง ไม่ซ้ำหน้ากว่า 1,000 เมนู

ดับความร้อนด้วยเครื่องดื่มผลไม้

คุณโอม-ณัฐกร อดีตหนุ่มวิศวกรที่ผันตัวมาเอาดีด้านการครัวและระบบหลังร้าน ย้อนกลับไปเล่าจุดเริ่มต้นว่า สำหรับ “เผ็ด เผ็ด คาเฟ่” สาขาแรกแถวประดิพัทธ์ ตอนนั้นพวกเราอยากนำเสนออาหารอีสานในรูปแบบที่คนทั่วไปคุ้นเคย ประเภทต้มแซ่บ น้ำตก ลาบ ส้มตำ ไม่ได้มีอะไรพิสดาร พอมาเปิดเป็น “เผ็ด เผ็ด บิสโตร” เริ่มกล้าทำเมนูพิเศษออกไป จำพวก ตำผลไม้ ซึ่งได้รับความนิยมมากทั้ง ตำมังคุด ตำสตรอเบอรี่ ตำตะลิงปลิง หยิบยก “เมนูตำหลวงพระบาง” หลังจากตระเวนกินมาเกือบ 20 ร้านที่ประเทศลาว มานำเสนอให้ถูกปากคนไทย ผสมผสานกับเมนูที่แม่มักทำให้กินง่ายๆ ที่บ้านอย่าง ไข่เจียวหมูสับ ซึ่งเป็นสูตรที่บ้านของคุณต้อม ใช้เทคนิคคั่วหมูสับปริมาณเยอะๆ แล้ว ใส่ไข่ลงทอดทีหลัง

ตำเต็มถาดปลาร้า

สาขาที่สาม ไม่ได้ตั้งใจจะเปิด แต่เพราะ “เผ็ด เผ็ด บิสโตร” ปิดทำการซ่อมแซม จึงมองหาทำเลเล็กๆ แถวคลองลัดมะยม เปิดเป็น “เผ็ด เผ็ด กราวด์” ชูความเป็นอีสานพื้นบ้าน “ปลาร้ามีความโหน่ง” คือกลิ่นค่อนข้างแรง รสชาติเค็ม เผ็ด ไม่เน้นเปรี้ยว หวาน เหมือนกับสาขาอื่นๆ รวมทั้งมีเมนูพื้นบ้านอย่าง แกงขี้เหล็กใส่หนังควาย, หน่อหวายอ่อน ไข่มดแดง หรือพวกนึ่งปลา ที่ต้องเอาปลาไปหมักกับข้าวสองคืนถึงจะนึ่งได้ พวกป่นปูนา ป่นแมงดา จะค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม

สำหรับ “เผ็ด เผ็ด หลาย” เป็นสาขาลำดับที่ 4 ตั้งอยู่ซอยสายลม 1 ถนนพหลโยธิน โดยสถานที่ที่เราปักหลักนัดฉลองความสำเร็จให้กับสองหนุ่ม ในส่วนของคอนเซปต์สาขานี้ คุณโอมตอกย้ำว่าแตกต่างจากสาขาอื่นโดยสิ้นเชิง ช่วงแรกตั้งใจจำหน่าย “อาหารจานเดียว” เปิดบริการตั้งแต่เวลา 10.30-22.00 น. พอช่วงโควิด-19 คนสนใจเยอะขึ้น พร้อมกับเรียกร้องอยากกินอาหารจำพวกส้มตำหรือยำ เมื่อทนต่อเสียงรบเร้าไม่ไหว พวกเราก็ตัดสินใจเพิ่มเมนูประเภทนี้เข้ามา ซึ่งส่งผลดีทำให้บรรยากาศช่วงค่ำที่เคยเงียบเหงา กลับมาครึกครื้นพอๆ กับมื้อกลางวันที่คนมาฝากท้องกินข้าว ส่วนอีก 4 สาขา ปักหมุดเปิดในฟู้ดคอร์ต ตึกมหานคร, คิงเพาเวอร์ ถนนรางน้ำ, เซ็นทรัลชิดลม และเซ็นทรัลบางนา ในชื่อ “เผ็ด เผ็ด ป๊อป”

เนื้อย่างโคขุนโพนยางคำ

ที่มาของชื่อร้าน คุณต้อม-ณัฐพงศ์ เผยว่า ในตอนแรกทางร้านมีคอนเซปต์จะขายอาหารอีสาน เลยเสิร์ชคำว่า “อาหารอีสาน” แล้วเจอฝรั่งเขียนว่า ถ้ามากินอาหารไทยแล้วอยากกินรสจัดให้สั่งว่าเผ็ด ๆ ทางร้านเลยตั้งชื่อร้านว่า “เผ็ดเผ็ด” ด้วยความที่เติบโตมาในจังหวัดนครพนม ท่ามกลางครอบครัวที่ทำธุรกิจโต๊ะจีน คุณต้อม-ณัฐพงศ์ จึงมีพื้นฐานด้านการทำอาหาร จึงรับหน้าที่ในการคิดค้นเมนูทั้งหมด “พวกอาหารอีสานผมเรียนรู้จากแม่ สมัยที่แม่เพิ่งแต่งงาน ได้เปิดร้านส้มตำเล็กๆ ขึ้นมา ลูกค้าติดใจน้ำปลาร้าที่ปรุงขึ้นมา เมื่อราว 30-40 ปีที่ผ่านมา คนอีสานยังกินปลาร้าดิบ ซึ่งปลาร้าดิบจะมีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ อร่อยมาก มาถึงปัจจุบันคนไม่นิยมเท่าไหร่ มาคิดกับแม่ เราจะทำยังไงดี ถ้าต้มปลาร้าเป็นสูตรของเราเอง จะมีต้องส่วนผสมอะไรบ้าง ลองทำมาประมาณ 1 ปี จนได้ปลาร้าที่ไม่มีกลิ่นมาก แต่รสชาตินัว”

เนื้อย่าง เสิร์ฟมาพร้อมกับน้ำจิ้ม 4 ชนิด และซัลซ่ามะเขือเทศ

ฟังเรื่องเล่าพอหอมปากหอมคอ ก็ได้เวลาลิ้มลอง วันนี้คุณต้อมขอนำเสนอเมนูเด็ดประจำร้าน “เผ็ด เผ็ด หลาย” เริ่มต้นจาก “ตำเต็มถาดปลาร้า” ยกมาทั้งถาด ใส่ทุกอย่างที่คนอีสานชอบเวลากินส้มตำ ไม่ว่าจะเป็น เส้นลวก ปลาหมึกลวก กุ้งลวก หมูยอ ปูไข่ดอง ส่วนส้มตำจะเป็นส้มตำปลาร้ารสนัว ได้ความเผ็ดร้อนจากพริกแห้ง โรยด้วยเม็ดกระถิน ตัดความเผ็ดร้อนด้วย เนื้อย่าง คุณต้อมเลือกใช้เนื้อไทยโคขุนโพนยางคำ หมักสไตล์ไทย ย่างความสุกมาแบบกำลังดี จิ้มกับแจ่วปลาร้า ตัดรสจัดจ้านด้วยยำมะเขือเทศ ทำออกมาในลักษณะคล้ายคลึงกับ “ซัลซ่ามะเขือเทศ” อาหารของเม็กซิกัน

ข้าวคั่วกากหมู

ถูกใจชาวคาร์โบไฮเดรต ต้องจานนี้เลย ข้าวคั่วกากหมู เมนูง่ายๆ แต่ทัชใจ ข้าวกับกากหมูที่เจียวใหม่ๆ ปรุงรสด้วยน้ำปลา คั่วกับกระทะด้วยไฟแรงดึงความหอม สั่งมากินคู่กับเมนูยำหรือส้มตำก็ลงตัว จัดความเผ็ดมาแบบพริกหมดสวนต้อง

กุ้งแม่น้ำเต้น

กุ้งแม่น้ำเต้น จานนี้คุณต้อมบอกว่าสามารถรีเควสระดับความสุกได้ แต่ถ้าให้แนะนำจริงๆ ก็อยากให้กินแบบดิบ เพราะดั้งเดิมคนไทยโบราณก็กินดิบเช่นกัน โดยจานนี้จะทำเป็น “กุ้งเต้น” ย่างบนเตาถ่านพอสะดุ้ง เนื้อใส น้ำยำจะเปรี้ยวจัดเห็นดาวเดือน ช่วยทำให้เนื้อกุ้งยิ่งเด้งและดับกลิ่นคาว โรยพริกขี้หนูสดๆ อร่อยจนแสงออกปาก

ต้มยำปลากะพงบ๊วยและกากหมู

ต้มยำปลากะพงบ๊วยและกากหมู ดัดแปลงมาจากเมนูต้มบ๊วยปกติที่มีขิง หากเพิ่มความแซ่บด้วยพริกขี้หนู ส่วนตัวของคุณต้อมชอบกลิ่นของกากหมูเวลาอยู่ในน้ำซุป จึงเพิ่มเข้าไปด้วย พอกินแล้วเข้ากันดี เป็นอีกจานที่ซดคล่องคอ คุณต้อมไม่ได้เชี่ยวชาญเฉพาะอาหารคาว แต่ยังใฝ่รู้เรียนการทำขนมหวานเพิ่มเติม

โรลกาแฟ

เมนูที่แนะนำให้สั่งมาล้างปากก็คือ โรลกาแฟ เนื้อขนมจะมีความหนึบ เนียน อยู่กึ่งกลางระหว่างโรลไทยและโรลญี่ปุ่นผสมกัน ส่วนครีมสดตีกับกาแฟสายพันธุ์เอธิโอเปียผสมกับทางเชียงใหม่ ทำให้มีรสขมเข้มถูกใจคอกาแฟ

อินทนิล

และ อินทนิล ขนมไทยสีเขียวมรกต คุณต้อมเล่าว่าเคยทำช่วงเปิดร้านสาขาแรก แต่เพราะเมนูนี้ค่อนข้างใช้เวลาในการทำที่พิถีพิถัน จึงยกเลิกไปชั่วคราว และนำกลับมาทำใหม่เพื่อเพิ่มความพิเศษให้กับสาขานี้ โดยใช้แป้งมัน แป้งท้าวยายม่อม มากวนกับน้ำกะทิ สีเขียวได้จากใบเตยที่ผ่านกรรมวิธีสกัดเย็น ไม่ใช้สีและแต่งกลิ่นสังเคราะห์ รสชาติจะออกมัน หวานปะแล่ม.

ช้องมาศ พุ่มสวัสดิ์ : เรื่อง

พิชญวัฒน์ ปรุงศักดิ์ : ภาพ