จากกรณีข่าวเอเลี่ยนสปีชีส์ “ปลาหมอคางดำ” ที่ถูกพบตามแหล่งพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน ถือว่าเป็นหายนะรุนแรงของระบบนิเวศประมงไทยอย่างแท้จริง เพราะมีความพิเศษสามารถปรับตัวอยู่ได้ทุกที่ทั้ง น้ำจืด, น้ำกร่อย และน้ำเค็ม อย่างไรก็ตามยังมีลำไส้ที่ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า แถมตัวเมียวางไข่ได้ 50-300 ฟองต่อครั้ง ซึ่งทำให้เกษตรกรหลายคนออกมาเรียกร้อง วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ หวั่นใจกลัวว่าปลาหมอคางดำอาจจะขยายพันธุ์หรือผสมพันธุ์กับปลาชนิดอื่น จนทำให้มีจำนวนมากขึ้นและสร้างความเดือดร้อนในอนาคตตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2567 “เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยให้ความเห็นเชิงวิชาการว่า “เปิดภาพลูกผสม ปลานิล x ปลาหมอคางดำ แต่อย่าพึ่งตกใจ ยังไม่เจอในธรรมชาตินะครับ”

เริ่มเห็นกระแสความสงสัยของบางคนที่กลัวว่าพอ “ปลาหมอคางดำ” ซึ่งกำลังรณรงค์ให้จับทำลายกันอยู่ตอนนี้ มันระบาดไปทั่ว มันจะไปผสมกับ “ปลานิล” ซึ่งก็เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์จากทวีปแอฟริกาเหมือนกัน และเดี๋ยวนี้ก็มีอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำจืดของประเทศไทย ได้หรือเปล่า แล้วจะเกิดผลกระทบอะไรตามมาหรือเปล่า

โดยสรุปคือจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีรายงานการพบ “ปลาลูกผสม” ระหว่างปลาหมอคางดำ และปลานิลในประเทศไทย และจากรายงานวิจัยในอดีตนั้น ก็ไม่พบปลาลูกผสมในธรรมชาติทั่วไปเหมือนกัน ถ้าใครเจอรายงานที่ไหน ช่วยบอกด้วย มีแต่ลูกผสมที่เกิดจากการตั้งใจทำการทดลองวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งก็เกิดขึ้นได้ยากและเป็นจำนวนน้อยด้วย เนื่องจากปลาทั้งสองชนิดนี้ เป็นปลาคนละสกุล (genus) กันเลย

ต้องเริ่มจากอธิบายข้อมูลพื้นฐานก่อนว่า ปลาหมอคางดำ (blackchin tilapia) และปลานิล (Nile tilapia) รวมถึงปลาหมอเทศ และ ปลาหมอสี (อีกหลายสปีชีส์) ล้วนแล้วเป็นญาติกัน โดยอยู่ในลำดับ (order) เพอร์ซิฟอมมิส Perciformes, ในวงศ์ (family) ซิคลิดดี Cichlidae, ไทรบ์ (tribe) ทิลาปีนี Tilapiini โดยมีชื่อสามัญที่ลงท้ายด้วยคำคล้าย ๆ กันว่า ทิลาเปีย Tilapia ซึ่งแสดงถึงกลุ่มของพวกปลา ซิคลิด Cichlid ที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

แต่ปลา Cichlid ในไทรบ์ Tilapiini นั้น จะแยกเป็น 3 สกุล (genus) สำคัญ คือ
– สกุล โอรีโอครอมิส Oreochromis ซึ่งปลาตัวเมีย จะอมไข่เอาไว้
– สกุล ซาโรธีโรดอน Sarotherodon ปลาตัวผู้ เป็นตัวที่อมไข่
– ทิลาเปีย Tilapia วางไข่ไว้ตามพื้นท้องน้ำ
ซึ่งปลาหมอคางดำ นั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron ขณะที่ปลานิล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis niloticus แสดงว่าปลาทั้งสองชนิดนี้ แม้จะดูคล้ายกัน แต่อยู่คนละสกุลกันเลย

ในทางด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนั้น จะมีการพัฒนาสายพันธุ์ปลา ด้วยการนำเอาปลาที่อยู่ในสกุลเดียว มาผสมกันให้ได้ลูกผสมที่มีคุณสมบัติดีขึ้น เช่น เอา ปลานิล O. niloticus มาผสมกับ ปลาหมอเทศข้างลาย O. aureus หรือกับปลาหมอเทศ O. mossambicus ซึ่งสามารถทำได้ไม่ยาก เนื่องจากเป็นปลาในสกุล Oreochromis เหมือนกัน

แต่ความพยายามที่จะผสมพันธุ์ปลากลุ่มนี้ ข้ามระหว่างสกุลนั้น ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ในเชิงพาณิชย์ ดังเช่น มีความพยายามพัฒนาปลาลูกผสมระหว่างปลานิลกับปลาหมอคางดำ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ที่เจริญเติบโตได้ดีเหมือนกับปลานิล แต่สามารถเพาะเลี้ยงได้ในน้ำกร่อยและน้ำเค็มเหมือนปลาหมอคางดำ แต่จากงานวิจัยพบว่าลูกผสมข้ามสกุลเช่นนี้ ไม่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ ขณะที่การนำมาเลี้ยงให้พวกมันผสมกันนั้น ก็ได้ผลไม่ค่อยดี ได้ลูกปลา (F1) ออกมาจำนวนน้อยมาก

ที่เป็นเช่นนี้ น่าจะมาจากการ “ไม่เข้ากัน” ระหว่างโครโมโซมของปลาทั้งสองสปีชีส์ ซึ่งแม้ว่าจะจำนวนโครโมโซมของเซลล์ดิพพลอยด์ปรกติ เป็น 2n=44 เหมือนกัน แต่เมื่อมาจัดเรียงเทียบกันแบบคารีโอไทป์ (karyotype) แล้ว พบว่ามีความแตกต่างกันของชนิดและขนาดของโครโมโซม อยู่หลายคู่ ทำให้การจับคู่ผสมรวมกันของเซลล์สืบพันธุ์นั้น เกิดขึ้นได้ไม่สมบูรณ์ตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ปลาลูกผสมที่เกิดขึ้น (F1) กลับ “ไม่ได้เป็นหมัน” สามารถมีรุ่นหลาน (F2) ต่อไปได้โดยยังคงลักษณะเดิมของความเป็นลูกผสม ซึ่งค่อนข้างตรงกับคุณลักษณะที่นักวิจัยคาดหวังไว้ คือ
1. สามารถทนน้ำเค็มได้ดีขึ้นกว่าปลานิล คือ สามารถอยู่ในน้ำที่มีค่าความเค็ม (salinity ) 15%−25% ได้ โดยมีอัตราการรอดชีวิตและเจริญเติบโตได้ดี
2.มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี คือมีน้ำหนักได้มากกว่า 500 กรัม (ครึ่งกิโลกรัม) ใน 5−6 เดือน และ
3.มีรสชาติที่ดีขึ้นกว่าปลาที่เลี้ยงไว้ในน้ำจืด

ปัญหาในการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาลูกผสมนี้ จึงอยู่ที่ระดับ F1 ที่ผสมได้น้อยมาก นอกจากนี้ ผลจากการศึกษาปลาลูกผสม ระหว่างปลาหมอคางดำและปลานิล ที่พอจะทำมาจนเป็นรุ่นหลาน F2 ได้นั้น พบว่าปลาลูกผสมมีลักษณะรูปร่างหน้าตาทางสัณฐานวิทยา ที่แตกต่างออกไปจากพ่อแม่ของพวกมัน (ดูรูปประกอบ) โดยมีลักษณะเด่น ได้แก่ จำนวนของซี่เหงือกด้านบน (upper gill raker) จำนวนของซี่เหงือกจิ๋วด้านบน (upper micro gill raker) จำนวนของเงี่ยงแหลมในครีบหลัง (thorny rays of the dorsal fin) จำนวนของซี่เหงือกจิ๋วด้านล่าง (lower micro-gill raker) และจำนวนของซี่เหงือกด้านล่าง (lower gill raker) ที่น่าสังเกตอีกอย่างคือ ไม่ว่าจะเป็นลูกผสมที่สลับพ่อแม่กัน ระหว่างปลานิลและปลาหมอคางดำ ลูกที่ออกมาก็มีหน้าตาคล้ายคลึงกัน

ก็พอเป็นข้อมูลพื้นฐานเอาไว้ สำหรับการเฝ้าระวังและติดตามการระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทยเรา แม้ว่าจะยังไม่พบการเกิดลูกผสมระหว่างปลาหมอคางดำกับปลานิลขึ้นในขณะนี้ แต่ถ้าเกิดขึ้นในอนาคต ก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาที่คาดไม่ถึงตามมาก็ได้

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์