จากกรณีที่นายสมัตถ์ ชมชื่น ผู้ประกอบการค้าน้ำยางพารา ได้ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผ่านนายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วย รมว.สธ. เพื่อแจ้งเบาะแสการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 จังหวัด พร้อมขอให้เร่งดำเนินการตรวจสอบหลังพบข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเอื้อประโยชน์ทางการค้าให้กับบุคคลเฉพาะกลุ่ม หรือเฉพาะรายในโครงการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างถนนแอสฟัลติกคอนกรีต เมื่อปี 2565 เป็นเหตุให้รัฐเกิดความเสียหาย ต้องเสียรายได้งบประมาณแผ่นดินมากกว่า 100 ล้านบาท อีกทั้งจากการสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบว่ามีการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดต่อหน้าที่จึงส่งสำนวนการสืบสวนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ชี้มูลความผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เปิดเผยว่า กองคดีฯ ได้รับหนังสือร้องเรียนแจ้งเบาะแสการกระทำทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ และบริษัทผู้ประกอบการค้าน้ำยางพาราในพื้นที่กว่า 10 จังหวัด ได้แก่ 1.จังหวัดร้อยเอ็ด 2.จังหวัดศรีสะเกษ 3.จังหวัดราชบุรี 4.จังหวัดอำนาจเจริญ 5.จังหวัดยโสธร 6.จังหวัดขอนแก่น 7.จังหวัดหนองคาย 8.จังหวัดชัยภูมิ 9.จังหวัดมหาสารคาม และ 10.จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีการออกประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างถนนแอสฟัลติกคอนกรีต โดยกำหนดขอบเขตและรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ (Terms of Reference : TOR) อันมีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ทางการค้าให้กับกลุ่มบุคคลเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะราย

คณะพนักงานสอบสวน เผยอีกว่า จากการสืบสวนพบว่ากรณีดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกล่าวอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทำเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างในโครงการก่อสร้างถนนแอสฟัลติกคอนกรีตฯ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) โดยมีการกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) โดยระบุนวัตกรรมหรืออนุสิทธิบัตรมาเป็นเงื่อนไขในการดำเนินการ โดยกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้เสนอราคาว่าต้องแนบเอกสารรับรองจากผู้ประกอบการที่ถือสิทธิในอนุสิทธิบัตร “น้ำยางพาราผสมสาร ผสมเพิ่ม” ตามเลขที่คำขอที่มีการกำหนดไว้ใน TOR ซึ่งมีเพียงรายเดียว อย่างไรก็ตาม พฤติการณ์ดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการกำหนดเงื่อนไขเฉพาะของงานก่อสร้างโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสนอราคารายใดได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม อันอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และมาตรา 11

คณะพนักงานสอบสวน เผยต่อว่า พฤติการณ์ดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งเป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ จึงเสนอรายการการสืบสวนต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขออนุมัติให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อพิจารณาดำเนินการ โดยได้ส่งสำนวนการสืบสวนไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. แล้วเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 67 เพื่อ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป.