นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า เป็นที่น่ายินดีที่ขณะนี้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) สามารถบริหารจัดการจนส่งผลให้ผลการดำเนินงานกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง และมีกำไรเป็นเดือนแรก หลังจากขาดทุนมา 4 ปีนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยปัจจัยที่ทำให้ บขส. มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีกำไร ส่วนหนึ่งมาจากมีปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการมากขึ้น ซึ่งการขยายเวลาการจองตั๋วล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์จากเดิม 90 วัน เป็น 365 วัน ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้โดยสารมาใช้บริการมากขึ้น โดยตั้งแต่ดำเนินการเรื่องดังกล่าว มียอดการจองตั๋วล่วงหน้าเพิ่มขึ้นประมาณ 50% ทำให้ บขส. ทราบปริมาณความต้องการการเดินทางล่วงหน้า และสามารถจัดรถรองรับได้อย่างเพียงพอ

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ได้เน้นย้ำ บขส. ว่าการที่มีผู้โดยสารมาใช้บริการมากขึ้น จนทำให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นต้องมาควบคู่กับการบริการที่ดี และพัฒนาปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในสถานีขนส่งผู้โดยสาร โดยเฉพาะสถานีขนส่งฯกรุงเทพ (หมอชิต) ให้มีสภาพที่ดี ไม่ทรุดโทรม สะอาด ปลอดภัย และอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน รวมทั้งประชาชนต้องได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้แบบไร้รอยต่อด้วย ซึ่งได้รับรายงานเบื้องต้นจาก บขส. ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จะแล้วเสร็จ และสมบูรณ์พร้อมใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 68

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนแผนการย้ายสถานีหมอชิต 2 ไปยังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ บขส. อยู่ระหว่างเตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม และออกแบบรายละเอียดต่างๆ โดยใช้จะงบประมาณปี 68 ในการดำเนินการศึกษาประมาณ 6 เดือน ต้องรอพิจารณาว่าผลการศึกษาจะเป็นอย่างไร และคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 4-5 ปี จึงจะสามารถย้ายไปให้บริการที่สถานีกลางฯ ได้ อย่างไรก็ตามในระหว่างนี้ บขส. ได้อำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีหมอชิต 2 กับสถานีกลางฯ ด้วยการให้รถ บขส. เข้าไปส่งถึงสถานีกลางฯ รวมทั้งประสาน ขสมก. จัดรถเข้าไปรับส่งผู้โดยสารที่สถานีกลางฯ เพื่อมายังสถานีหมอชิต 2 ด้วย

ด้านนายอรรถวิท รักจำรูญ กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า เมื่อเดือน เม.ย. 67 บขส. สามารถทำกำไรได้ประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนเดือน พ.ค. 67 ยังขาดทุนอยู่ แต่ภาพรวมการขาดทุนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมพันกว่าล้านบาทต่อปี เหลือประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี และในปีงบประมาณ 67 (1 ต.ค. 66-30 ก.ย. 67) ตั้งเป้าหมายขาดทุนไม่ให้เกิน 200 ล้านบาท ซึ่งจากการบริหารจัดการ และการหาช่องทางเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ทำให้การขาดทุนลดลงต่อเนื่อง มั่นใจว่าสิ้นปีงบประมาณ 67 จะขาดทุนไม่เกิน 90 ล้านบาทน้อยกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้

นายอรรถวิท กล่าวต่อว่า บขส. มีรถโดยสารจำกัดประมาณ 300 คัน จึงต้องบริหารจัดการเดินรถว่าเส้นทางใดมีกำไร หรือขาดทุน และต้องดึงรถบางส่วนจากเส้นทางที่ขาดทุน มาให้บริการในเส้นทางที่ทำกำไรมากขึ้น ซึ่ง บขส. อยู่ระหว่างเร่งจัดหารถโดยสารใหม่ 445 คัน โดยวิธีเช่า เพื่อนำมาทดแทนรถเก่า และเพิ่มเติม โดยรถระยะใกล้ไม่เกิน 200 กิโลเมตร เป็นรถพลังงานไฟฟ้า (อีวี) ส่วนรถระยะไกล เป็นรถดีเซล จะได้ใช้บริการในปลายปีนี้ลอตแรก 80 คันก่อน และจะครบทั้งหมดปี 68  นอกจากนี้จะหารายได้เพิ่มจากบริการขนส่งพัสดุภัณฑ์ ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้ บขส. ได้ดีขึ้น ตั้งเป้าหมายปีนี้จะมีรายได้จากส่วนนี้ประมาณ 210 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 130-180 ล้านบาทต่อปี

“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า สำหรับผลการดำเนินงาน บขส. ในงบประมาณปี 66 (1 ต.ค. 65-30 ก.ย. 66) มีรายได้อยู่ที่ 1,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 600 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีงบฯ 65 รายได้อยู่ที่ 1,300 ล้านบาท ส่วนจำนวนผู้โดยสารในปี 66 อยู่ที่ 3.5-3.6 หมื่นคนต่อวัน โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 63-65) ซึ่งเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 มีผู้โดยสารใช้บริการเพียง 8,000-13,000 คนต่อวัน คาดว่าในปีงบประมาณปี 67 จะมีจำนวนผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 4-4.5 หมื่นคนต่อวัน และมีรายได้เพิ่มขึ้น 10-30% หรือไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท.