เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยผลการดำเนินโครงการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อส่งเสริมความสามารถทางภาษาของนักเรียนตามกรอบมาตรฐาน Common European Framework of Reference for Languages (CEFR) ให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษากลางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และองค์ความรู้ต่างๆ ได้ และเรื่องนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายความสำเร็จของโครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ว่า สพฐ. ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) ติดตามผลการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ หลังจากที่ สพฐ. ได้ร่วมกับ มทร.พระนคร พัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ให้แก่ครูผู้สอนภาษาอังกฤษประถมศึกษา ของโรงเรียนคุณภาพระดับประถมศึกษา จำนวน 901 โรงเรียน โดยใช้สื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มและหลักการของเกม (Gamification) โดยตั้งเป้าหมายอบรมครูจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 คน พบว่า มีครูผู้สอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนคุณภาพ ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 2,011 คน และเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการตามหลักสูตรของโครงการ ระยะที่ 1 ซึ่งผลการประเมินระยะแรก ครูผู้สอนภาษาอังกฤษได้รับการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนการสอน โดยใช้สื่อนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มและหลักการของ Gamification ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะยังคงมีอบรมครูกลุ่มนี้ต่อเนื่องในระยะที่ 2 และ ระยะที่ 3 ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2567

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สพฐ. ยังได้ตั้งเป้าหมายให้ครูผู้สอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาสามารถจัดการเรียนรู้ โดยใช้สื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มและหลักการของ Gamification รวมถึงจัดสอบวัดระดับ Placement Test ให้แก่นักเรียนชั้น ป.5 และ ป.6 ในโรงเรียนคุณภาพ จำนวนไม่น้อยกว่า 100,000 คน และสอบวัดระดับ Proficiency Test 4 ทักษะ ระดับ A1 ให้แก่นักเรียน ชั้น ป.5 และ ป.6 ในโรงเรียนคุณภาพ จำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 คน พร้อมทั้งคัดเลือกต้นแบบทักษะการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนภาษาอังกฤษ Best Practice ไม่น้อยกว่า 18 ต้นแบบ โดยใช้เขตตรวจราชการ Cluster เป็นฐาน ซึ่งผลการประเมินเบื้องต้น พบว่า มีนักเรียนชั้น ป.5 และ ป.6 ในโรงเรียนคุณภาพ จำนวน 98,193 คน ได้รับการพัฒนาและสอบวัดระดับทักษะภาษาอังกฤษตามเกณฑ์มาตรฐาน CEFR (Placement Test) ตามเกณฑ์ค่าเป้าหมายที่กำหนด ในระดับ A1 ทั้งนี้ สพฐ. จะร่วมกับ มทร.พระนคร ติดตามผลการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ของครูผู้สอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษา ในระยะที่ 2 ระหว่างเดือน ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ อีกครั้ง

“นอกจากพัฒนาครูผู้สอนภาษาอังกฤษที่เป็นคนไทยแล้ว สพฐ. ยังได้จัดสรรงบประมาณจัดจ้างครูผู้สอนภาษาอังกฤษชาวต่างชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา อินเดีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เข้ามาสอนที่โรงเรียนในโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนจากเจ้าของภาษาโดยตรง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว.