เมื่อวันที่ 16 ก.ค. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ชนะการประมูลโครงการฯ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยที่ประชุมไม่มีการทักท้วง หรือมีการคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแต่ขอให้เร่งรัดการดำเนินการเรื่อง พ.ร.บ.ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บัตรใบเดียวเดินทางรถไฟฟ้าได้ทั้งระบบ

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะมีการลงนามสัญญาฯ ระหว่าง รฟม. และ BEM ซึ่งเบื้องต้นจะมีการลงนามสัญญาในช่วงบ่ายของวันที่ 18 ก.ค. 67 ที่ รฟม. มีตนเป็นประธาน โดยเมื่อมีการลงนามสัญญาฯ แล้วเสร็จ ทางเอกชนก็จะสามารถเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม. เป็นงานสถานีใต้ดินตลอดสาย รวมถึงดำเนินการติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า และระบบอาณัติสัญญาณของส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีการก่อสร้างเสร็จแล้ว 100% ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินงานคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเดินรถในส่วนตะวันออกได้ประมาณเดือน ม.ค. 71 และตลอดทั้งสายกลางปี 73 แต่จะเจรจาเอกชนให้สามารถเปิดให้บริการได้เร็วกว่าแผนที่วางไว้

ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะเก็บอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายตามนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า โครงการฯ นี้ เข้าร่วมนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งผลักดัน พ.ร.บ.ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. เพื่อให้มีผลใช้บังคับภายในปี 68 พร้อมทั้งให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน และลดข้อจำกัดจากสัญญาสัมปทานเดิม รวมถึงดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายด้วย

“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” แจ้งว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1.4 หมื่นล้านบาท ค่างานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้าบริหารการเดินรถ ซ่อมบำรุง 3.2 หมื่นล้านบาท โดย รฟม. เปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างช่วงตะวันตก ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด และรับสัมปทานเดินรถตลอดเส้นทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) ผลปรากฏว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มีผู้รับเหมางานโยธาคือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะประมูล ซึ่งตามแผนเดิม รฟม. คาดว่าจะลงนามสัญญากับเอกชนได้ตั้งแต่ปลายปี 65.