เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนจำนวนกว่า 100 คน เดินทางนำอุปกรณ์จับปลา อาทิ สวิง, แห-อวนดักปลา, ตะกร้า เพื่อจับปลาที่ลอยน็อคอยู่บนผิวน้ำ บริเวณบึงมักกะสัน ถนนจตุรทิศ กรุงเทพมหานคร จากการตรวจสอบพบภายในบึงมักกะสัน มีปลาจำนวนมากลอยอยู่บนผิวน้ำ อาทิ ปลาหมอคางดำ และปลานิล สอบถาม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยซึ่งประจำจุดประตูระบายน้ำของบึงมักกะสัน เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ทางสำนักการระบายน้ำ ได้ปิดประตูระบายน้ำ เพื่อกั้นไม่ให้น้ำไหลออกจากอาคารควบคุมน้ำออก เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีการซ่อมแซมระบบวาล์วน้ำของอาคารดังกล่าว ส่งผลให้ปลาในบึงขาดออกซิเจน จึงลอยขึ้นมาอยู่เหนือน้ำเป็นจำนวนมาก

โดย นางโบว์ (นามสมมุติ) หนึ่งในชาวบ้านที่มาจับปลา เปิดเผยว่า ตัวเองทราบข่าวจากโซเชียลมีเดียจึงเดินทางมาเพื่อจับปลา เบื้องต้นสามารถจับได้กว่า 100 กิโลกรัม ปลาที่ได้มีทั้งปลานิลและปลาหมอคางดำ โดยหลังจากนี้จะนำไปรับประทานแจกจ่ายให้กับญาติ และนำไปขาย ยอมรับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีที่พบเหตุการณ์ลักษณะนี้ในพื้นที่ ส่วนปลาหมอคางดำที่จับได้นั้นจะนำไปประกอบอาหารรับประทานต่อไป

ด้าน นายกรณิศ บัวจันทร์ ผู้อำนวยการเขตราชเทวี เปิดเผยว่าปลาส่วนใหญ่ที่เห็นเป็นปลานิล มีบางส่วนเป็นปลาหมอคางดำที่เรากังวลใจกันอยู่ ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้น จากการสอบถามสำนักระบายน้ำ เป็นเพราะเร่งลดน้ำเพื่อรองรับฝน ป้องกันปัญหาน้ำท่วม เมื่อน้ำลดลงจำนวนมากก็เกิดภาวะการเปลี่ยนแปลงทำให้ปลาน็อกน้ำจึงเกิดปัญหานี้ขึ้นมา ซึ่งลดระดับน้ำต่อเนื่องมาหลายวันแล้ว และเป็นที่รับรู้ว่าพื้นที่นี้มีปลาหมอคางดำอยู่บางส่วน

หลังจากนี้จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยดูแล ทั้งกรมประมง การรถไฟสำนักงานเขตราชเทวี และสำนักการระบายน้ำ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะจับปลาเป็น ส่วนปลาที่ตายแล้วทางเขตจะให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดมาช่วยเก็บปลาที่ตายออกไปก่อน ส่วนบึงมักกะสันจะมีคูคลองใกล้เคียง อย่างเช่นคลองสามเสน ระบายน้ำลงบึงมักกะสัน ส่งต่อไปท่อระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีขั้นตอนการระบายน้ำอยู่ พอน้ำลดไปเยอะจึงเกิดประเด็นเป็นปัญหานี้ขึ้นมา แต่น้ำตรงนี้จะไม่ระบายเข้าเมือง จะไประบายออกทางคลองแสนแสบ และมีประตูระบายน้ำระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ผอ.เขตราชเทวี เผยอีกว่า ส่วนคูคลองจุดอื่นเท่าที่ได้รับรายงานตอนนี้ยังไม่มีเหตุการณ์แบบนี้ แต่ก่อนหน้านี้มีพื้นที่ฝั่งธนบุรี แต่ฝั่งพระนคร จุดนี้ถือว่าเป็นจุดแรกที่เจอ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้ช่วยกันดูแลและช่วยกันกำจัด ซึ่งเป็นนโยบายของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำชับให้ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว

ส่วนการควบคุมประชาชนที่มาจับปลา นายกรณิศยอมรับว่า ควบคุมยาก แต่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ว่าหากเป็นปลานิลจะจับไปปล่อยในจุดอื่น แต่ถ้าเป็นปลาหมอคางดำ ต้องดูอีกทีว่าจับแล้วนำไปทำลายเลยหรือไม่