เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย มีประชาชนเข้าร่วม 300 คน โดยจากการพิจารณาแนวสายทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ 7 แนวสายทาง ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่า แนวเส้นทางที่ 6 เป็นแนวสายทางที่เหมาะสมมากที่สุด

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า แนวเส้นทางที่ 6 มีจุดเริ่มต้นบริเวณแยกแหลมประทับ ช่วง กม.4+900 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เข้าเชื่อมเกาะสมุยบริเวณช่วงท้ายของหาดท้องกรูด และเชื่อมต่อกับจุดสิ้นสุดบริเวณ กม.9+000 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ในพื้นที่ ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มีระยะทางรวม 25.04 กิโลเมตร (กม.) โดยรูปแบบเบื้องต้นของทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย จะเป็นสะพานทอดยาวในทะเล โดยถนนมีขนาด 4 ช่องจราจร และ กทพ. มีแผนจะหารือกับกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อทำถนนเข้าเชื่อมทางพิเศษ (Access Road) ด้วย โดยจะนำไปออกแบบรายละเอียดเบื้องต้น และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งดำเนินงานการมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระยะต่อไป

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของถนนเข้าเชื่อมทางพิเศษ จะมีจุดเชื่อมต่อบริเวณ กม.14+500 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ ต.ดอนสัก อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี และเชื่อมต่อบริเวณ กม.35+700 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ ต.ควนทอง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ทั้งนี้ถนนเข้าเชื่อมทางพิเศษ (Access Road) กับแนวเส้นทางที่ 6 รวมแล้วจะมีระยะทางประมาณ 37.32 กิโลเมตร มีจุดขึ้น-ลง 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณ กม.35+700 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ ต.ควนทอง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช และบริเวณ กม.14+500 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ ต.ดอนสัก อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนใน จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช รวมถึงผู้ใช้ทางสามารถใช้ทางพิเศษได้สะดวกมากขึ้น

นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า กทพ. จะนำความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมในประเด็นต่างๆ  ไปประกอบการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป โดย กทพ. จะจัดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวขึ้นอีก 2 ครั้ง ในวันที่ 16 ก.ค. 67 ที่ จ.นครศรีธรรมราช และวันที่ 17 ก.ค. 67 ที่ จ.สุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตามคาดว่าผลการศึกษาแล้วเสร็จปี 69 จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างปี 72 มาเปิดให้บริการในปี 76

นายสมพร พัฒนรัฐ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า แนวเส้นทางที่ 6 มีคะแนนรวมสูงสุด 127.09 โดยเส้นทางนี้จะมีค่าก่อสร้างกว่า 4 หมื่นล้านบาท มีระยะทางสั้นกว่าเส้นอื่นๆ มีพื้นที่โครงการบนฝั่งแผ่นดินใหญ่ และฝั่งเกาะสมุยระยะทางที่สั้น ทำให้กระทบชุมชนน้อยมาก ค่าชดเชยเวนคืนน้อย ค่าบำรุงรักษาน้อย และมีผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งน้อยกว่าแนวเส้นทางอื่นๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ดีใจที่จะมีทางด่วนสมุยเป็นทางเลือก และลดข้อจำกัดในการเดินทางให้กับประชาชน สามารถเดินทางได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีข้อกังวล และข้อห่วงใยในหลายประเด็น อาทิ สะพานทางด่วนสมุยมีการรองรับการเกิดแผ่นดินไหว และเหตุภัยพิบัติต่างๆ หรือไม่, เมื่อมีการเดินทางมาเกาะสมุยได้ง่ายขึ้น ก็จะทำให้มีคนเดินทางมาสมุยมากขึ้น จึงห่วงว่าน้ำประปา และไฟฟ้า จะไม่เพียงพอ ขอให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องนี้ด้วย และให้พิจารณาเรื่องค่าผ่านทางสำหรับชาวสมุย จะมีการจัดเก็บกี่ปี จึงจะให้ขึ้นฟรี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประชาชนรายหนึ่งขอให้ กทพ. พิจารณาสร้างในรูปแบบอุโมงค์แทนการสร้างสะพานด้วย.