จากการสำรวจพฤติกรรมทางสุขภาพของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 39 แห่งทั่วประเทศ จำนวน 300 คน ปี 2566 พบมีอายุเฉลี่ย 17 ปี เคยสูบบุหรี่มวน 95.4% ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 84.5% และเคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 79.3% ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 30.5% เมื่อจัดลำดับสารเสพติดที่ใช้ พบว่า 80.7% เริ่มใช้ “บุหรี่มวนเป็นสารเสพติดชนิดแรก” และในจำนวนนี้ 76¬% พัฒนาไปสู่การใช้ยาเสพติดอื่น ๆ โดยยาเสพติดที่นิยมมากที่สุดคือ ยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน กัญชา กระท่อม 45.1% รองลงมาคือ ยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท ยาบ้า (แอมเฟตามีน) ไอซ์ ยาอี 40.5% ยาเสพติดประเภทกดประสาท ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน สาระเหย 8.9% และยาเสพติดประเภทหลอนประสาท เช่น แอลเอสดี (LSD) เห็ดขี้ควาย สารระเหย 5.5%

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครตอนนี้ ถือว่ามีการระบาดค่อนข้างมาก เนื่องจากมีจุดขายที่ค่อนข้างชัดเจน มีการหลบเลี่ยงและมีกระบวนการที่สามารถสั่งออนไลน์ได้ เด็กส่วนหนึ่งที่อยู่ในโรงเรียนในสังกัด กทม. ก็สามารถเข้าถึง โดยที่บางทีผู้ปกครอง และก็คุณครูก็ไม่ทราบ ดังนั้นการทำงานร่วมกันระหว่าง กทม.และสถาบันยุวทัศน์ จะเป็นส่วนสำคัญในการทำงานกับโรงเรียนในสังกัดโดยที่คุณครูต้องตระหนัก นักเรียนต้องรู้ในการเตือนเพื่อนด้วยกันเอง มีกิจกรรมภายในโรงเรียนเพื่อให้กลุ่มสีขาวคือกลุ่มที่ไม่เคยสัมผัสบุหรี่ไฟฟ้าเลย รู้จักปฎิเสธและรับรู้ว่านี่คืออันตราย ไม่ควรลองเพราะเมื่อลองไปแล้วโอกาสเลิกจะยากมาก

รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี มีนโยบาย10มาตรการเร่งด่วนเพื่อลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ระยะ 1 ปี หนึ่งในมาตรการสำคัญเป็นการทำงานต้นน้ำ คือ มาตรการที่ 5 การป้องกันไม่ให้เกิดผู้เสพรายใหม่ เพราะแม้หน่วยงานภาครัฐจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แต่หากปล่อยให้เกิดผู้ใช้ยาเสพติดรายใหม่อย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายยาก ขณะที่ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณสำหรับบำบัดรักษาหรือการฟื้นฟู ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดผู้เสพรายใหม่ จึงเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาจากสิ่งเสพติดที่จำหน่ายอยู่ตามร้านสะดวกซื้อ ซึ่งก็คือ “บุหรี่” รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า ที่ลักลอบจำหน่ายอย่างผิดกฎหมาย เพราะงานวิจัยทางการแพทย์หลากหลายประเทศได้ยืนยันตรงกันว่า “บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นประตูบานแรกสู่ยาเสพติด” หากสมองของเด็กและเยาวชนคุ้นเคยกับสิ่งเสพติดเหล่านี้แล้ว ก็ย่อมมีโอกาสพัฒนาไปใช้ยาเสพติดอื่น ๆ ได้เช่นกัน

นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. มีความร่วมมือที่ดีกับ สสส. และ สถาบันยุวทัศน์ (ยท.) ในการผลักดันให้นักเรียนในโรงเรียนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ไฟฟ้า การพัฒนาให้แกนนำนักเรียนมาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา จะมีความเข้าใจที่ดีกับกลุ่มเพื่อน และได้รับความสนใจจากกลุ่มเพื่อนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า แม้จะไม่เลิกสูบในทันที แต่การสื่อสารเชิงบวกเหล่านี้จะทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในการลดนักสูบหน้าใหม่

นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการ ยท. กล่าวว่า การประกาศเจตนารมณ์โรงเรียนสังกัด กทม. ปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและสิ่งเสพติด มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นการให้สถานศึกษาร่วมประกาศเจตนารมณ์แล้ว จะยังมีการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพให้เกิดแกนนำบุคลากรทางการศึกษาและแกนนำนักเรียน

สำหรับ5มาตรการของกรุงเทพมหานคร จะให้สถานศึกษากวดขันในการตรวจทรัพย์สินที่นักเรียนนำมาโรงเรียน หากพบบุหรี่ไฟฟ้า ก็จะเข้าสู่มาตรการที่สอง คือจัดทำบัญชีรายชื่อแต่จะไม่มีการดำเนินคดีกับเด็กนักเรียน เพียงเป็นการลงโทษ ว่าบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าที่โรงเรียนเก็บรักษาจะส่งต่อไปที่สำนักงานเขต ในกรณีที่เด็กมีความจำนงแจ้งเลิกบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า จะให้สำนักงานสาธารณสุขของกทม. ที่อยู่ตามเขตได้เข้าไปให้คำปรึกษาช่วยเหลือแนะแนวทางในการบำบัดรักษาฟื้นฟู รวมถึงมาตรการ เทศกิจร่วมกันตรวจตราร้านที่อาจจำหน่าย หรือแอบเปิดรอบสถานศึกษา นโยบายของท่านผู้ว่าราชการหรือผู้บริหารกรุงเทพมหานครจะทำมาตรการให้มีความเข้มข้นเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน

การประกาศเจตนารมณ์โรงเรียนสังกัด กทม. ปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและสิ่งเสพติด เป็นการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพให้เกิดแกนนำบุคลากรทางการศึกษาและแกนนำนักเรียน เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนตื่นรู้ถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า