“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า กรมทางหลวง (ทล.) เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณปี 68 จำนวน 650 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างทางต่างระดับแยกดอนยาง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จุดตัดทางหลวงหมายเลข 42 (ทล.42) หรือสายคลองแงะ-จุดผ่านแดนถาวรสุไหงโก-ลก กับ ทล.43 (สายหาดใหญ่–ยะหริ่ง) หากได้รับงบฯ จะเริ่มก่อสร้างภายในปีหน้า (68) ใช้เวลาสร้าง 2 ปี 6 เดือน แล้วเสร็จปี 70 แผนงานก่อสร้างล่าช้ากว่าเดิมไป 1 ปี เนื่องจากปี 67 เสนอรับงบฯ โครงการนี้ และทางต่างระดับแยกตะลุโบะจุดตัด ทล.42 กับ ทล.410 พื้นที่ จ.ปัตตานี ทั้ง 2 โครงการ ปี 67 ได้รับงบโครงการทางต่างระดับแยกตะลุโบะเพียงโครงการเดียว จึงเสนอโครงการนี้อีกครั้ง

ทางต่างระดับแยกดอนแยกประกอบด้วยสะพานข้ามแยก(ข้ามทล.43)ตามแนวทล. 42 มีความกว้างผิวทางรวม 24 เมตร ทิศทางละ 3 ช่องกว้างช่องละ 3.50 เมตร  ความยาว 290.50 เมตร ช่องลอดใต้สะพาน มีความสูงไม่น้อยกว่า 5.50 เมตร รถทุกชนิดผ่านได้ ออกแบบจุดกลับรถเพิ่มเติมใต้สะพานบนทล.43 ทั้ง 2 ทิศทาง บริเวณ กม.86+858 และ กม.86+984 ใต้ทางแยกออกแบบเป็นวงเวียนรูปดัมเบล หรือเลข 8 ปรับปรุงจากรูปแบบวงเวียนกลมเดิมเพิ่มระยะตรงกลางให้มีลักษณะ คล้ายวงรี ช่วงกลางเว้าเข้าเพื่อลดขนาดโครงสร้างสะพาน และปลายวงเวียน เกาะกลางวงเวียนรัศมี กว้าง 20-25 เมตร มีช่องจราจรหลักในวงเวียน 2 ช่องกว้างช่องจราจรละ 4.50 เมตร  ทางเท้าความกว้างสุดเขตทาง 3-3.50 เมตร พร้อมระบบระบายน้ำใต้ทางเท้า ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ทางกลับรถ จัดภูมิทัศน์บริเวณวงเวียน เช่น ประติมากรรมรูปดอกชบาดอกไม้ประจำ จ.ปัตตานี และรูปเรือกอและ เป็นเรือประมงท้องถิ่นในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตท้องถิ่นที่ประกอบอาชีพประมงเป็นหลักดั้งเดิม ทั้งนี้ โครงการไม่มีการเวนคืน ใช้เขตทางหลวงเดิมอย่างมีประสิทธิภาพ

แยกดอนยาง อยู่บนแนวเส้นทางหลักการขนส่งสินค้าของ 3 จังหวัดภาคใต้ ปัจจุบันเป็นทางแยกสัญญาณไฟจราจร ปริมาณจราจรหนาแน่น และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง การออกแบบทางแยกต่างระดับแยกดอนยาง มีแนวคิดให้รถจาก ทล.43 ผ่านทางแยกได้อย่างอิสระ เนื่องจากเป็นเส้นทางขนส่งหลักเชื่อม อ.เมือง จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส โดยไม่ผ่าน อ.หนองจิก ซึ่งมีผู้อาศัยหนาแน่น แต่ข้อจำกัดเขตทาง ทล.43 กว้าง 60 เมตร ฝั่งไป อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ 80 เมตร ฝั่งเลี่ยงเมืองปัตตานี มีเขตทางมากกว่า ทล.42 ซึ่งมีเพียง 30 เมตร สภาพพื้นที่ราบ รวมทั้งความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมบริเวณทางแยก จึงออกแบบสะพานตามแนว ทล.43 ข้าม ทล.42 แทนโครงสร้างทางลอด เพื่อลดค่าก่อสร้างและลดภาระบำรุงรักษา เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางและการขนส่งสินค้าชายแดนให้สะดวก ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุ