หลังคนไทย ถามหากันมานานว่าเมื่อไร? ประเทศไทยจะมี “ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน” หรือ “Cell Broadcast” เหมือนกับนานาประเทศที่พัฒนาแล้ว!!

โดยเฉพาะเมื่อภูมิประเทศของไทย มีความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงการเกิดเหตุด่วน เหตุร้ายรุนแรงต่อเนื่อง อย่างเหตุการณ์กรณีกราดยิงใน จ.นครราชสีมา และ ห้างดังใจกลางกรุง!?!

หากมีระบบเตือนภัยฉุกเฉิน ที่ส่งตรงถึงโทรศัพท์มือถือโดยตรงของผู้ใช้บริการทุกเครื่อง ทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพร้อมกันทันที และแม่นยำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ อย่างทันท่วงที!!

ล่าสุด คนไทยรวมถึงคนต่างชาติที่ใช้โทรศัพท์มือถือในไทย กำลังจะมีระบบ “Cell Broadcast” ใช้งานแล้ว เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแจ้งข้อมูล ผ่านการสื่อสารโทรคมนาคม พ.ศ. …

และเห็นชอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการประสานงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการแจ้งข้อมูลผ่านการสื่อสารโทรคมนาคมหรือระบบ Cell Broadcast และเห็นชอบให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. สนับสนุนงบประมาณ จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ในการพัฒนาระบบ Cell Broadcast

และความชัดเจนมีมากขึ้นเมื่อได้มีการทดสอบระบบ  “LIVE – Cell Broadcast Service” โดยความร่วมมือของ กระทรวงดีอี, สำนักงาน กสทช., กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 

โดยเป็นการทดสอบระบบเสมือนจริงครั้งแรกผ่านเสาสัญญาณจริง ให้ผู้ใช้งานมือถือทั้งทรู และดีแทคในพื้นที่ ได้รับประสบการณ์ แจ้งเตือนภัยจริงครั้งแรกในประเทศไทย

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รมว.ดีอี  บอกว่า  ระบบ Cell Broadcast  จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ด้านสาธารณภัยของประเทศ ทั้งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์  ช่วยสร้างความมั่นคงปลอดภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย 

โดย ดีอี จึงได้จัดทำโครงสร้างพื้นฐานกลาง (Infrastructure) ให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ใช้เตือนภัยเฉพาะพื้นที่ โดยผ่านระบบ Cell Broadcast เพื่อแจ้งให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ ได้รับทราบ โดยข้อความจะปรากฏขึ้นมาบนหน้าจอมือถือทันที ซึ่งสามารถตั้งระดับความรุนแรงของภัยได้ตามความเร่งด่วน และความจำเป็น ถึง 5 ระดับ อาทิ การเตือนระดับ PM 2.5 ที่เป็นอันตรายเฉพาะพื้นที่ ไปจนถึงเหตุการณ์ใหญ่ระดับภูมิภาคอย่างพายุ  น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม หรือการวางระเบิด ซึ่งสามารถปรับเสียง และการแจ้งเตือนได้ตามความเหมาะสม 

โดยระบบนี้สามารถปรับแต่งให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน เช่น  คนไทย จีน หรือ ชาวต่างชาติ โดยสามารถแสดงผลในภาษาที่ผู้ใช้งานเข้าใจได้ถึง 5 ภาษา ภายในครั้งเดียว ซึ่งการติดตั้งอุปกรณ์และการติดตั้งทั่วประเทศ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 68  ซึ่งเมื่อระบบพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบ ประชาชนทั่วประเทศจะได้รับการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยยิ่งขึ้น

ภาพ pixabay.com

ขณะที่ในมุมของ สำนักงาน กสทช.หน่วยงานกำกับดูแลค่ายมือถือนั้น ทาง “นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์” ประธาน กสทช. บอกว่า  ถือเป็นนโยบายเร่งด่วน ของ สำนักงาน กสทช. เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้เกิดระบบ Cell Broadcast ที่เชื่อมกับระบบสั่งการของรัฐบาล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้มีการใช้งานแพร่หลายในต่างประเทศ มีความเป็นมาตรฐานสากล และดำเนินการได้รวดเร็ว

“งบประมาณในการดำเนินโครงการ จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากเงินบัญชี 3 (USO โทรคมนาคม) กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งขั้นตอนจากนี้จะต้องมีการนำเรื่องเข้าสู่การประชุม กสทช. เพื่อขอความเห็นชอบ ในเร็วๆนี้”

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้มีการประชุมเรื่องนี้ร่วมกับ กระทรวงดีอี, ปภ. และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดจะมีการประชุมเชิงนโยบายร่วมกัน รวมถึงประเด็นด้านเทคนิคอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าทุกหน่วยงานจะมีความพร้อมเพื่อให้บริการระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ในช่วงกลางปี 68

รูปแบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินจะเป็นรูปแบบการแสดงข้อความ หรือ Pop Up บนหน้าจอโทรศัพท์ พร้อมสัญญาณเสียง เป็นการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายพร้อมกันแบบรอบเดียว ครอบคลุมพื้นที่ที่เกิดเหตุ โดยไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชัน สามารถตั้งระดับการเตือนได้ 5 ระดับตามรูปแบบการใช้งานและความร่วมมือภาครัฐ ประกอบด้วย 1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่ที่มีเสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที

2.การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยจากคนร้าย เป็นต้น 3. การแจ้งเตือนเด็กหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือการลักพาตัว เพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวังและช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตการณ์ และรายงานถ้าพบคนร้าย 

4. ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะ ในพื้นที่หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น และ 5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่าง ๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนในระดับต่าง ๆ ต่อไป

ภาพ pixabay.com

ด้าน “มนัสส์ มานะวุฒิเวช” ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ระบบ Cell Broadcast Service หรือ CBS มีจุดเด่นสำคัญ คือ รองรับทุกภาษา  สามารถส่งข้อความเตือนภัยได้อย่างรวดเร็วทันทีที่เกิดเหตุ และกำหนดพื้นที่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้า และเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับ และใช้งานในหลายประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังได้พัฒนาศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ Business and Network Intelligence Center (BNIC) ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ามากกว่า 50 ล้านเลขหมาย  ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบ CBS ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อดใจรอกันอีกไม่นานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยจะถูกยกระดับดีขึ้นด้วยระบบ Cell Broadcast !!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์