ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่ในปัจจุบันกลายเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น ตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงอย่างหนักในพื้นที่ 16 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ทางสหกรณ์ผู้เสียงกุ้งปากพนัง ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรี ได้จัดงบประมาณสนับสนุนการปฏิบัติการกำจัดปลาหมอคางดำ บริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียเนื้อที่ 184 ไร่ของโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 14 ก.ค. 67 ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป ในขณะที่ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ประชาสัมพันธ์โครงการโดยการประกาศจับตาย คดีแดงที่ 14/06/2567 ปราบวายร้ายแห่งลุ่มน้ำ กำจัดให้สิ้นซาก ซึ่งสื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง สร้างความสนใจจากนักตกปลา นักล่าปลาทั่วจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียง ตามที่เสนอข่าวไปต่อเนื่องแล้วนั้น

คืบหน้า เมื่อวันที่ 14 ก.ค. นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกร จ.นครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช ประมงอำเภอปากพนัง นายบุญเยียน รัตนวิชา ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งปากพนัง นายประสงค์ จันทร์ทอง ประธานชมรมกุ้งสงขลา-นครศรีฯ นายวิชาญ คงจันทร์ กรรมการชมรมกุ้งสงขลา-นครศรีธรรมราชฯ พร้อมสมาชิกประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งปากพนัง และสมาชิกชมรมกุ้งสงขลา-นครศรีฯ ได้ร่วมหารือเตรียมการและการจัดหางบประมาณเพื่อดำเนินการตามโครงการกำจัดปลาหมอคางดำ ในบ่อบำบัดน้ำเสียบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียเนื้อที่ 184 ไร่ของโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในวันนี้ ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีมีงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมจากทางราชการแต่อย่างใด

นายบุญเยียน กล่าวว่า ในขณะนี้ทางสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งปากพนัง และชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรีฯ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณการดำเนินการคิกออกฟกำจัดปลาหมอคางดำ ในวันนี้ กำลังขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พรรคพวกเพื่อนฝูง เพราะงบประมาณที่รวบรวมจัดเตรียมไว้คงไม่เพียงพออย่างแน่นอน เนื่องจากในขณะนี้หลังจากสื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง สร้างกระแสให้พรานนักล่าปลาจากภาคใต้หลายจังหวัดรวมทั้งในส่วนของ จ.นครศรีธรรมราช แจ้งความประสงค์เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมากเกินความคาดหมาย มากกว่า 500 คนจากที่ตั้งเป้าหมายไว้แค่ 200-300 คน ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการบริหารจัดการ การต้อนรับ อาหาร และอื่นๆ ในการ KICK OFF ไล่ล่าปลาหมอคางดำเมืองคอน โดยผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช ได้มอบหมายให้นายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รองผู้ว่าฯ มาเป็นประธานและร่วมกิจกรรม พร้อมจะได้รับมอบเกียรติบัตรเป็นการขอบคุณให้กับทุกท่านที่สนับสนุนงบประมาณและทีมพรานไล่ล่าจับปลาหมอคางดำทุกคนทุกทีมด้วย

นายไพโรจน์ กล่าวว่า การเตรียมงานพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการจัดเตรียมเรือหางยาว เรือพาย เรือยางไว้บริการรวม 40 ลำ สำหรับทีมไล่ล่าจับปลาหมอคางดำ ให้ท่านจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือการจับที่ท่านถนัด และอาจจะนำเรือส่วนตัวมาร่วมเพิ่มเติมก็ได้ และให้ควรมาก่อนเวลาเพื่อจับจองเรือแต่ละลำในการเป็นพาหนะนำออกล่าปลาหมอคางดำ ในพื้นที่ 184 ไร่ สามารถโทรฯติดต่อประสานงานที่ตนได้ตลอดเวลา โทร.066-123-3319

“ผมเห็นด้วยกับกรณีที่กรมประมงจะมีการทำหมันปลาหมอคางดำ เพื่อหยุดการขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำต่อไป แต่ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงจะสามารถควบคุมได้ แต่ในช่วงก่อน 5 ปีการดำเนินการไล่ล่ากำจัดตามมาตรการที่กำหนดก็ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มองว่ารัฐบาลควรจัดงบประมาณในการดำเนินการของแต่ละจังหวัดที่ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดอย่างเพียงพอ และควรประกาศเป็นวาระแห่งชาติ หรือให้ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่จัดงบสนับสนุนได้ตามระเบียบกฎหมาย โดยการรับซื้อควรกำหนดให้ราคาเท่ากันทั่วประเทศอย่างน้อยต้อง กก.ละ 20 บาทเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชน พรานนักล่าปลา เขาจะมีแรงจูงใจในการประกอบอาชีพล่าจับปลาหมอคางดำและมีรายได้เพียงพอในการดำรงชีพเลี้ยงครอบครัว” นายไพโรจน์ กล่าว

สมาชิกสภาเกษตรกร กล่าวอีกว่า ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่พบแพร่ระบาดหนักในเขตลุ่มน้ำปากพนัง 2 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ปากพนัง และ อ.หัวไทร สิ่งสำคัญที่สุดคือจะต้องป้องกันไม่ให้ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อำเภออื่นๆ หากยังไม่มีงบประมาณในการดำเนินการครั้งต่อๆ ไป ปลายปีน้ำท่วมคงแพร่ระบาดไปทั่วในอำเภออื่นๆ หรืออาจจะทั่วทั้งจังหวัดก็เป็นได้ จะยิ่งแก้ไขปัญหายากเย็นมากยิ่งขึ้น งบประมาณที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาก็จะมากขึ้นหลายสิบเท่าตัวแน่นอน.